Tuesday, August 5, 2008

‘ซูชิ 5 บาท’



‘ซูชิ 5 บาท’ ซื้อง่าย-ขายคล่อง

ยุคนี้คนไทยนิยมรับประทานอาหารญี่ปุ่นกันไม่น้อย รวมถึงอาหารที่เรียกว่า “ซูชิ” ซึ่งก็มีผู้ที่นำเอาซูชิมาใช้เป็น “ช่องทางทำกิน” ได้อย่างน่าสนใจ ดังเช่นรายที่ทางทีมงานจะนำเสนอในวันนี้...

ศรีกาญจนา วงษ์ชื่น เจ้าของร้าน “ซูชิ ชิ้นละ 5 บาท” ทำขายกันใหม่ ๆ ที่ตลาดนัดหลังกระทรวงการคลัง ขายมาเกือบ 1 ปีแล้ว เธอบอกว่า ด้วยความที่ชอบทำสิ่งสวย ๆ งาม ๆ จึงเปลี่ยนจากอาชีพเดิมมองหาอาชีพใหม่ที่เกี่ยวข้องกับความชอบ ก็มีเพื่อนแนะนำให้ขาย “ซูชิ” พร้อมทั้งบอกวิธีทำ และสอนเทคนิคการทำเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ ซึ่งตนเองก็มีความมั่นใจในความคิดว่าอาหารประเภทนี้ยังพอมีทางไปได้แน่ ๆ แม้ว่าส่วนตัวจะไม่ค่อยชอบก็ตาม หลังจากหาทำเลขายได้แล้ว วันแรกก็ไปซื้อของ วันที่สองนั่งหัดทำที่บ้านทั้งวัน พอวันที่สามจึงออกขายเลย ซึ่งก็ไม่น่าเชื่อว่าขายหมดตั้งแต่วันแรก


เมื่อประสบผลสำเร็จในวันแรก จึงมุมานะพยายามมากขึ้น ด้วยการออกแบบหน้าซูชิต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีกเพื่อความหลากหลาย อันเป็นการสร้างแรงดึงดูดให้ลูกค้าแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนร้านมากขึ้น จากเดิมที่หน้าซูชิในระยะเริ่มแรกมีเพียง 8-9 หน้า เมื่อ 8 เดือนผ่านไป หน้าซูชิก็มีเพิ่มขึ้นถึง 30 หน้าแล้ว และเธอก็ยิ่งมีความมั่นใจว่าอาหารประเภทซูชินี้มีอนาคตแน่นอน หากมีฝีมือ และมีทำเลที่ดี

ในแต่ละวัน ศรีกาญจนาจะใช้ข้าวญี่ปุ่น เฉลี่ยวันละ 7 กก. ซึ่งราคาค่อนข้างสูง คือประมาณ 60 บาท/1 กก. ไม่สามารถลดต้นทุนด้วยการใช้ข้าวไทยได้ เพราะร่วน ไม่เหนียว เวลาห่อออกมาแล้วข้าวแตก ไม่เกาะกัน

นอกเหนือจากข้าวแล้ว วัตถุดิบอื่น อาทิ หน้าซูชิต่าง ๆ แผ่นสาหร่าย ซอสญี่ปุ่น วาซาบิ ก็ควรสั่งซื้อจากที่เดียวกัน เพื่อป้องกันความสับสน

การหุงข้าว หุงด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้าแบบปกติ แต่มีเทคนิคในการเพิ่มรสชาติให้ข้าวไม่จืดชืดด้วยการเติมน้ำซุปสูตรพิเศษ ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างน้ำส้มสายชู 1 ถ้วย และน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ ที่ละลายให้เข้ากัน ราดลงให้ทั่วข้าวหลังจากที่ข้าวสุกแล้ว จากนั้นถ่ายข้าวสุกใส่ในภาชนะพลาสติกสีขาวอย่างดี ตั้งพักไว้ให้ข้าวเย็นลง เพื่อจะได้ไม่ร้อนมือเวลาที่ปั้นข้าว และต่อมาก็จะเป็นการม้วนข้าว ซึ่งจะใช้สาหร่ายแผ่น ขนาดประมาณ 8X5 นิ้ว ในแต่ละวันถ้าใช้ข้าว 7 กก. จะใช้แผ่นสาหร่ายประมาณ 70-80 แผ่น

การม้วนข้าวนั้นจะมีอุปกรณ์ตัวช่วย 1 อย่างที่ขาดไม่ได้ คือ แผ่นไม้ม้วนข้าว ทำมาจากไม้ วางแผ่นสาหร่ายลงไปบนแผ่นม้วนข้าว ตักข้าวประมาณ 1 ทัพพีกว่า ๆ ลงไปบนแผ่นสาหร่าย เกลี่ยข้าวให้ทั่ว บีบมายองเนสตามแนวขวางบนแผ่นสาหร่ายด้านบน เพื่อทำหน้าที่เป็นกาวให้แผ่นสาหร่ายติดกันเวลาม้วน จากนั้นม้วนข้าวให้เป็นก้อนกลม ซึ่งการม้วนข้าวนี้กว่าจะม้วนให้ออกมาสวยก็ต้องฝึกกันหน่อย

ม้วนแล้วก็ใช้กรรไกรคมกริบตัดข้าวห่อสาหร่ายออกมาเป็นชิ้น ๆ ข้าวห่อสาหร่าย 1 แท่งจะตัดออกมาได้ 8 ชิ้น และข้าวสวย 7 กก. จะม้วนข้าวได้เท่ากับจำนวนสาหร่ายแผ่นที่ใช้ในแต่ละวัน

ต่อมาก็เป็นเรื่องของ “หน้าซูชิ” หน้าหลัก ๆ ที่จำเป็นต้องมีระยะเริ่มต้น มีเพียง 5-6 อย่างเท่านั้น ได้แก่ ไข่กุ้งส้ม 500 กรัม, ยำสาหร่ายเขียว 250-500 กรัม, กุ้งต้ม 100–150 ตัว, ปูอัด 100-150 ชิ้น, ไข่หวาน 500 กรัม, ปลาแซลมอน (ปลาดิบ) และครีมมายอง เนส หากขายแล้วได้กำไร ก็สามารถลงทุนซื้อหน้าเพิ่มได้อีก อาทิ ไข่กุ้งแดง ไข่กุ้งดำ ปลาไหล แมงกะพรุน ฯลฯ เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินค้า

หน้าซูชิหลัก ๆ ที่ต้องวางโชว์หน้าร้านแบบขาดไม่ได้มี 8-9 หน้า ได้แก่ หน้ากุ้ง, หน้าปูอัด, หน้าปลาแซลมอน (ปลาดิบ), หน้าไข่กุ้งส้ม, หน้ายำสาหร่ายเขียว, หน้ายำสลัดปูอัด, หน้าสลัดไข่กุ้งส้ม, หน้าไข่หวาน หลังจากนั้นก็เพิ่มความหลากหลายได้ถึง 30 หน้า อาทิ หน้าชีส, หน้าสลัดทูน่า, หน้าแมงกะพรุน, หน้าแฮม, หน้าปลาซาบะ, หน้าก้ามปู, หน้าหอยเชลล์ ฯลฯ โดยขายในราคาชิ้นละ 5 บาท

“ที่ร้านจะทำไปขายไป หากของเหลือก็จะไม่นำมาขายซ้ำอีก และของหมุนเวียนที่ใช้ทุกวันจะซื้อมาตุนคราวละจำนวนมาก ๆ แต่จะต้องให้หมดภายในเวลา 3 วัน” ศรีกาญจนาบอก

การทำหน้าซูชินั้น อารมณ์ต้องเย็น ต้องประณีตเพื่อความสวยงาม ที่สำคัญ ของที่ใช้แต่งหน้าซูชินั้น ต้องทำให้ดูมาก พูน น่าทาน ซึ่งก็ต้องตักเยอะจริง ๆ เมื่อลูกค้าซื้อไปทานแล้ว จะได้คุ้มค่าเงินที่จ่ายไป

สัดส่วนข้าวในปริมาณดังกล่าว ใช้เงินลงทุนวัตถุดิบรวมวันละประมาณ 3,000-4,000 บาท หากขายหมดจะได้เงินประมาณ 5,000-6,500 บาท ซึ่งล่าสุดกระแสความนิยมอาหารชนิดนี้ก็ยังไม่ตก

ศรีกาญจนา ขาย “ซูชิ ชิ้นละ 5 บาท” เป็น “ช่องทางทำกิน” อยู่ที่ตลาดนัดหลังกระทรวงการคลัง เยื้องกับ 7-11 ทุกวัน เว้นวันหยุดราชการ ตั้งแต่เวลา 07.00-13.30 น. ใครหาร้านไม่เจอก็ โทร. 08-1614-9593.

ซาลาเปาทอด



ซาลาเปาทอด ไอเดียลาว-ทำเงินในไทย

สำรวย เทพศิริวัฒน์ หรือ อ้อย ยึดอาชีพขาย “ซาลาเปาทอด” ควบคู่กับอาหารอย่างอื่น เช่น ทอดมันปลากรายสูตรปักษ์ใต้ ทางเจ้าตัวเล่าว่า ทำอาชีพค้าขายมานานหลายสิบปีแล้ว เริ่มจากหมูทอด ซึ่งเป็นสูตรเฉพาะที่คิดขึ้นมาเอง จะกรอบนอกนุ่มใน อร่อยกำลังดี ต่อจากนั้นก็ทำทอดมันปลากรายสูตรปักษ์ใต้ขายด้วย ซึ่งก็ได้รับการตอบรับดีมาก เพราะเครื่องแกงที่ใส่ผสมกับเนื้อปลาจะเป็นเครื่องแกงปักษ์ใต้

“พอดีไปเที่ยวที่ประเทศลาวกับครอบครัว ไปเห็นเขาทอดขนมบางอย่างขายกัน มีคนต่อคิวซื้อกันเยอะ ก็สงสัย ถามว่าขายอะไร พ่อค้าลาวบอกว่าเป็นซาลาเปาทอด เราก็คุยโน่นถามนี่ ถามถึงสูตรซาลาเปาทอด เขาก็บอกนะ กลับมาถึงกรุงเทพฯ ก็มาลองทำดู โดยสูตรของลาวที่ชิมดูแล้วคิดว่าคงไม่ถูกปากคนไทยแน่ จึงปรับปรุงให้ถูกปากของคนไทยจนได้สูตรที่ลงตัว ทั้งตัวแป้งและไส้ จากนั้นก็ทำขาย แรก ๆ หลายคนสงสัยว่าคืออะไร พอซื้อไปทานก็บอกว่าอร่อย ก็มาเป็นลูกค้าประจำ” คุณอ้อยเล่าถึงที่มาของการขายซาลาเปาทอดแบบนี้

สำหรับวัสดุอุปกรณ์ในการทำขาย ก็มีพวก... เตาแก๊ส, ลังถึงขนาดกลาง, ตาชั่งเล็ก, ถ้วยตวง, ที่ตัดแป้ง, ผ้าขาวบาง, ที่ร่อนแป้ง, เครื่องตีแป้ง, เครื่องปั่น, ตะกร้าโปร่ง, กะละมังพลาสติก, ถาดอะลูมิเนียม, หม้อ, กระทะ, ตะหลิว ฯลฯ และเครื่องใช้เครื่องมือเบ็ดเตล็ดอย่างอื่นที่สามารถหยิบฉวยได้จากในครัว

ส่วนผสม-วัตถุดิบในการทำซาลาเปาทอด ก็มี... แป้งสาลีตราบัวแดง, น้ำอุ่น, หัวเชื้อ, น้ำมันพืช, ไข่ไก่, น้ำตาลทราย, ยีสต์แห้ง, เกลือ, เนยขาว, กระดาษลอกลายสีขาว (ตัดเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 1 1/2 X 1 1/2)

ขั้นตอนการทำ “ซาลาเปาทอด” เริ่มจากเตรียมแป้ง 1 กก. แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก 700 กรัม ร่อนให้ละเอียด แป้งส่วนที่สอง 300 กรัมผสมกับผงฟู 2 ช้อนชา ร่อนให้ละเอียด แล้วคลุมด้วยผ้าขาวพักไว้สักครู่

นำแป้งส่วนแรกผสมกับยีสต์ 2 ช้อนชา, น้ำสะอาด 1 1/2 ถ้วยตวง ตีด้วยเครื่องตีแป้ง ใช้ความเร็วปานกลางตีประมาณ 15 นาที สังเกตดูว่าแป้งผสมเข้ากับน้ำและยีสต์ดีแล้ว ก็เป็นอันใช้ได้ เสร็จแล้วนำไปใส่ภาชนะคลุมด้วยผ้าขาวบาง ตั้งพักไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิห้องพอดี ๆ ไม่ร้อน-ไม่เย็นเกินไป

ขั้นต่อไปเอาแป้งส่วนแรกมาผสมกับส่วนที่สอง ใส่ไข่ขาว 1 ฟอง น้ำตาลทราย 3 ช้อนโต๊ะ ลงไปด้วย ทำการตีประมาณ 30 นาที จับแป้งดูว่าเหนียวพอดีแล้วก็นำไปแช่ในตู้เย็นนานประมาณ 3 ชั่วโมง

จากนั้นก็นำแป้งออกมาวางลงในถาดอะลูมิเนียมที่ทาด้วยเนยขาว นวดแป้งด้วยมือให้แป้งเนียนขึ้น ใช้ที่ตัดแป้งตัดออกทีละแถว แล้วตัดอีกครั้งเป็นชิ้น ๆ ตามความต้องการ (วิธีการตัดเหมือนกับการตัดแป้งปาท่องโก๋) ใช้มือคลึงแป้งบนถาด น้ำหนักมือต้องไม่หนักและเบาเกินไป มิฉะนั้นแป้งจะออกมารูปทรงไม่สวยงาม

ต่อไปการทำไส้ซาลาเปา “ไส้หมูสับ” ส่วนผสมก็ประกอบด้วย... หมูสับ 1 กก. มันแกวหั่นฝอย 700 กรัม, กระเทียมบด 100 กรัม การทำก็นำส่วนผสมลงผัดในกระทะ ปรุงรสด้วยน้ำตาลทราย 7 ช้อนโต๊ะ, ซีอิ๊วขาว 10 ช้อนโต๊ะ, ผงปรุงรสรสหมูนิดหน่อย, พริกไทยป่น ผัดส่วนผสมทั้งหมดให้แห้ง แล้วนำขึ้นตั้งพักไว้สักครู่

“ไส้ครีม” ส่วนผสมก็ได้แก่... น้ำตาลทราย 250 กรัม, มาการีน 200 กรัม, แป้งสาลี ร่อนสองครั้ง 75 กรัม, นมผง 500 กรัม, นมสด 50 กรัม, แป้งคัส ตาร์ด 500 กรัม, ไข่ไก่ 4 ฟอง, กลิ่นวานิลลา 1 ช้อนชา โดยนำส่วนผสมทั้งหมดผสมเข้าด้วยกัน แล้วใส่หม้อตุ๋น กวนจนกระทั่งส่วนผสมเหนียวปั้นได้ ยกขึ้นทิ้งไว้ให้เย็น

ลำดับต่อไปเป็นขั้นตอนการปั้นซาลาเปา นำแป้งที่แบ่งไว้เป็นก้อน ๆ มาแผ่ออกเป็นแผ่นกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 นิ้ว หรือขนาดอื่นตามชอบ ตักไส้ตามที่ต้องการที่เตรียมไว้ใส่ลงตรงกลางแผ่นแป้ง แล้วค่อย ๆ ห่อแป้งเข้ามารวมกันให้มิดไส้ คลึงให้เป็นลูกกลม ๆ วางลงบนกระดาษขาวที่เตรียมไว้ ตั้งพักไว้ประมาณ 1 ชั่วโมงเพื่อให้แป้งขึ้นตัว จากนั้นจึงนำไปใส่ลังถึงนึ่งประมาณ 15 นาที ก็เป็นอันเสร็จไปส่วนหนึ่ง

การออกจำหน่าย แบบทอดไปขายไป ให้เตรียมซาลาเปาใส่กล่องพลาสติก เวลาทอดให้ใส่น้ำมันพืชเยอะ ๆ ลงในกระทะ ใช้ไฟแรงปานกลาง ทอดครั้งละ 10 ลูก ใช้ตะแกรงกระชอนคอยคนอยู่ตลอด พอซาลาเปามีสีเหลืองกรอบก็ตักขึ้นให้สะเด็ดน้ำมัน ก็เป็นอันเรียบร้อย พร้อมที่จะจำหน่ายให้ลูกค้าได้

สำหรับสูตรที่ว่ามานี้ คุณอ้อยบอกว่าสามารถทำซาลาเปาทอดได้ประมาณ 200-210 ลูก ราคาขายก็ลูกละ 5 บาทเท่านั้น โดยจะมีต้นทุนอยู่ที่ลูกละประมาณไม่เกิน 70%

ใครสนใจ “ซาลาเปาทอด” สูตรนี้ สูตรที่นำซาลาเปาขาว ๆ ไส้หมู-ไส้ครีมมาลงกระทะทอดเป็น “ช่องทางทำกิน” ที่น่าสนใจ อยากเห็นหน้าตา อยากลองชิมรสชาติ วันอังคารจะขายอยู่ที่ตลาดนัดสหกรณ์การเกษตร, วันพุธ ขายที่กรมแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข, วันพฤหัสฯ ขายที่โรงพยาบาลโรคทรวงอก และวันศุกร์ ขายที่กรมประมง หรือต้องการนำไปออกร้านในเทศกาลต่าง ๆ ก็ติดต่อคุณอ้อยได้ที่ โทร. 08-6994-9100.

สารพัด ‘ของทอด’



สารพัด ‘ของทอด’ ทำก็ง่าย-ขายก็คล่อง

อาหารทานเล่นจำพวก “ของทอด” ส่วนใหญ่แล้วการทำไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ขายได้ ยิ่งช่วงเทศกาลถือศีลกินเจด้วยแล้ว บางร้าน “ทอดขายกันแทบไม่ทัน” ซึ่งมีอะไรที่น่าสนใจในเชิงอาชีพกับความง่ายของการทำอาหารจำพวกนี้ขาย? วันนี้ทีมงาน “ช่องทางทำกิน” มีสูตร-ข้อมูลมานำเสนอ

ทิพย์ สุขดี หรือ ป้าทิพย์ อายุ 50 ปี เป็นเจ้าของร้าน เต้าหู้ทอด สามย่าน ซึ่งทอดขายมานาน 30 ปีแล้ว โดยเจ้าตัวเล่าว่า เริ่มต้นอาชีพนี้ด้วยการช่วยน้องสามีขายที่ย่านศาลาแดง ต่อมาเขาเลิกขาย ก็เลยขายเอง แต่ทำเลที่เดิมค่าเช่าแพงขึ้น ลูกชายจึงหาที่ใหม่ให้เมื่อปี 2542 ก็ทอดขายมาจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันก็ 8 ปีมาแล้ว

สูตรทุกอย่างป้าทิพย์บอกว่า อาศัยจากประสบการณ์ที่ได้ช่วงที่ช่วยน้องสามีอยู่ และเมื่อมาเปิดร้านของตนเอง ก็ดัดแปลงจนเป็นสูตรเฉพาะของตัวเอง จนมีลูกค้าประจำติดใจในรสชาติจนถึงทุกวันนี้

นอกจากที่ร้านนี้จะขายเต้าหู้ทอดเป็นตัวชูโรงแล้ว ก็ยังมี เผือกทอด, หัวไชเท้าทอด, ข้าวโพดทอด, เปาะเปี๊ยะทอด ขายด้วย เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับลูกค้า เพื่อไม่ให้สินค้าซ้ำซากจำเจ

กับขั้นตอนการทำ เริ่มที่ “เต้าหู้ทอด” ก็ไม่ยาก แค่ไปสั่งซื้อเต้าหู้จากตลาด ซึ่งเต้าหู้ที่ใช้ประจำนั้นจะเป็น “เต้าหู้เหลือง” หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “เต้าหู้กระดาน” ราคากระดานละ 90 บาท แต่ละวันจะใช้ประมาณ 4-5 กระดาน นำมาตัดเป็นชิ้น ๆ ขนาดยาวประมาณ 3 นิ้ว กว้าง 1 นิ้ว เตรียมไว้

สำหรับของทอดชนิดอื่น ๆ ป้าทิพย์บอกว่า ถ้าเป็นเผือก และข้าวโพด ใช้ประมาณวันละ 7 กิโลกรัม ส่วนหัวไชเท้า ใช้วันละ 5 กิโลกรัม ขณะที่เปาะเปี๊ยะนั้นไม่ได้ทำเอง ซื้อแบบทำสำเร็จรูปที่พร้อมทอดขายได้เลยมาใช้

ขั้นตอนการทำ ถ้าเป็นเผือกก็ปอกเปลือกให้เรียบร้อย ล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นบั้งเผือกตามแนวขวางรอบ ๆ โดยเผือก 1 หัว บั้งประมาณ 8-9 วง แล้วก็จะใช้ที่ขูดทำการขูดเผือกเป็นเส้น ๆ หากเป็นหัวไชเท้าก็ใช้ที่ไส (คล้ายที่ไสน้ำแข็ง) ไสไปเรื่อย ๆ จนหมดหัว ขณะที่ข้าวโพดดิบนั้นก็ให้ฝานตามฝัก

เต้าหู้ แค่ตัดเป็นชิ้นก็เตรียมทอดได้ ส่วนเผือก หัวไชเท้า และข้าวโพด ต้องผสมแป้ง เกลือ และน้ำด้วย

ขั้นตอนผสมแป้งนั้น ถ้าผสมครั้งละ 1 กะละมังย่อม ๆ ผสมแป้งหมี่ 1 กิโลกรัม ผงฟู (เพื่อให้กรอบ) 1 ช้อนโต๊ะ และเกลือ (เพิ่มรสเค็ม) อีก 1 ช้อนชา คลุกเคล้าให้เข้ากัน ระหว่างที่คลุกนั้นให้ผสมน้ำลงไปด้วย ในปริมาณที่พอดี ๆ อย่าให้เละเกินไป และไม่ข้นจนเกินไป

สำหรับการทอด ตั้งน้ำมันพืชค่อนกระทะ เมื่อน้ำมันร้อนก็ค่อย ๆ หย่อนของที่จะทอดลงไป (เต้าหู้ใส่ลงไปได้เลย ส่วนของอื่น ๆ แบ่งชิ้นด้วยการตักทีละ 1 ช้อนโต๊ะ)

เมื่อใส่ของที่จะทอดลงกระทะแล้ว รีบเร่งไฟให้แรงขึ้นทันที เพื่อที่ของทอดนั้น ๆ จะไม่อมน้ำมัน ใช้เวลาทอดประมาณ 10 นาที ของทอดก็จะเหลือง กรอบ ส่งกลิ่นหอมไปทั่ว ก็นำขึ้นมาพักให้สะเด็ดน้ำมัน รอขาย

ของทอดที่ร้านป้าทิพย์ทุกอย่าง จะขายในราคา 8 ชิ้น 20 บาท

“ของทอดจะอร่อยไม่ได้ ถ้าขาดน้ำจิ้มที่อร่อยด้วย” ป้าทิพย์บอก ดังนั้น สูตรเด็ดจริง ๆ ของร้านป้าทิพย์ที่ไม่เหมือนใครก็คือ “น้ำจิ้ม” นั่นเอง

ขั้นตอนการทำน้ำจิ้ม แยกทำเป็น 2 ส่วนหลัก ส่วนแรกคือ นำพริกขี้หนูแดงสดมาปั่นให้ละเอียด เมื่อปั่นเสร็จแล้วให้ใส่เกลือลงไปด้วยเล็กน้อย แล้วใส่ถุงแช่เย็นเอาไว้ แล้วค่อย ๆ ทยอยเอาออกมาทำน้ำจิ้มขาย ซึ่งในแต่ละวันป้าทิพย์จะใช้พริกขี้หนูแดงประมาณ 1 กิโลกรัม

ส่วนที่สองคือ การทำน้ำเหนียว ซึ่งเหมือนกับการทำน้ำเชื่อม โดยเคี่ยวน้ำตาลทรายในสัดส่วน 15 กิโลกรัม ต่อน้ำเปล่า 2 ขัน จากนั้นเคี่ยวให้เหนียว พอใช้ได้แล้วก็ใส่บ๊วยลงไปประมาณ 1 ถุง (ถุงละ 60 บาท)

น้ำจิ้ม 1 ถุงสำหรับขายของทอด 1 ชุด จะประกอบด้วยน้ำเหนียวประมาณ 1 กระบวยครึ่ง พริกปั่น 1 ช้อนชา ถั่วบด เกลือเล็กน้อย และโรยหน้าด้วยผักชี

“ของที่ใช้จะต้องสด ๆ ใหม่ ๆ คือทำไปขายไป ไม่ขายของค้างคืน” คืออีกหนึ่งเคล็ดลับของป้าทิพย์

ใครสนใจที่จะไปลิ้มลองรสชาติสารพัด “ของทอด” สูตรป้าทิพย์ ร้านนี้อยู่ใกล้ป้ายรถเมล์ หน้าร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น บริเวณแยกสามย่าน ฝั่งถนนพระราม 1 ขายตั้งแต่เวลา 07.00 - 17.00 น.

และนี่ก็คือ “ช่องทางทำกิน” อีกช่องทางหนึ่ง ที่ถึงแม้จะเป็นแค่ “ของทอด” ที่อาจจะดูเป็นสินค้าพื้น ๆ แต่ถ้าฝึกทำจนคล่องแคล่ว ทอดออกมาได้อร่อยอย่างป้าทิพย์คนนี้ ก็สามารถสร้างรายได้ไม่เลวเลยทีเดียว!

บานาน่าปรุงรส



'บานาน่าปรุงรส' ของกล้วย ๆ รวยได้!


“กล้วย” ผลไม้ไทย ๆ ที่ได้รับความนิยมจากคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กไปจนถึงผู้ใหญ่ สามารถแปรรูปเป็นสินค้าต่าง ๆ ได้มากมาย อาทิ กล้วยปิ้ง กล้วยทอด กล้วยฉาบ ฯลฯ แต่วันนี้ทางทีมงาน “ช่องทางทำกิน” จะแนะนำให้รู้จักกับอีกผลิตภัณฑ์จากกล้วย ซึ่งสร้างงานสร้างรายได้ภายใต้แบรนด์ “บานาน่า” หรือกล้วยน้ำว้าปรุงรส

คุณจินตนา สะสำอางค์ วัย 42 ปี ผู้นำกลุ่มแม่บ้านสตรีพัฒนากล้วยน้ำว้าไทย ซึ่งทำ 'กล้วยปรุงรส' จำหน่าย เล่าว่า ได้แนวคิดมาจากช่วงที่กล้วยน้ำว้าล้นตลาด ในช่วงปี 2540 ซึ่งเป็นช่วงที่เธอเองก็รู้สึกอิ่มตัวกับงานบริษัทที่ทำอยู่ เบื่อความซ้ำซากจำเจในเมือง ประกอบกับสภาพวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่แตกช่วงปี 2540 ทำให้ตัดสินใจหันหลังให้กับอาชีพลูกจ้างที่คุ้นเคยมากว่า 10 ปี

'จุดเริ่มต้นประกายความคิดคือช่วงนั้นมันฝรั่งยี่ห้อหนึ่งกำลังได้รับความนิยมมาก ทำให้นึกถึงกล้วยน้ำว้า ซึ่งนอกจากจะมีคุณค่าทางโภชนาการสูงแล้ว ยังมีรสชาติที่หวานต่างจากกล้วยชนิดอื่น ประกอบกับเป็นช่วงที่ผลผลิตกล้วยน้ำว้าล้นตลาด ราคาตก เลยพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยนำกล้วยน้ำว้าไปทดลองปรุงรสต่าง ๆ ตามกระแส แล้วลองเอาไปให้เด็ก ๆ ชิมดู ก็เป็นที่ถูกอกถูกใจ จากนั้นก็ได้พัฒนาคิดสูตรรสชาติใหม่ ๆ ออกมาเรื่อย ๆ'

และจุดเปลี่ยนสำคัญของธุรกิจเกิดขึ้นเมื่อห้างเทสโก้โลตัสจัดพื้นที่พิเศษเพื่อจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือโอทอป ทำให้สินค้าบานาน่าได้มีโอกาสไปวางจำหน่าย ซึ่งช่วยเปิดช่องทางให้กับสินค้าท้องถิ่น จนวันนี้สมาชิกกลุ่มสตรีพัฒนาฯมีรายได้คนละ 10,000 -20,000 บาท/เดือน

ปัจจุบันสินค้าของกลุ่มมี 10 รสคือ รสสาหร่าย รสบาร์บิคิว รสลาบ รสไก่ รสพิซซ่า รสช็อกโกแลต รสกุ้ง รสปาปริก้า รสมะเขือเทศ และรสชาเขียว ซึ่งทุกรสผ่านการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา ได้รับมาตรฐานสินค้าโอทอป 5 ดาวและสถาบันรับรองอาหารฮาลาล

วัตถุดิบที่ใช้ในการทำกล้วยปรุงรส ก็มี...กล้วยน้ำว้าดิบแก่จัด, น้ำตาลไอซิ่ง (มีส่วนผสมของแป้งสาลี 3% ช่วยลดความชื้น), พริกไทยป่น, เกลือ และน้ำมันสำหรับทอด

ส่วนวัสดุ-อุปกรณ์ในการทำ ก็เป็นพวก... กระทะ, เตาแก๊ส, ไม้พาย, กระด้ง, เครื่องฝานกล้วย, ตะแกรง, ทัพพี, เครื่องบดไฟฟ้า, กระดาษซับน้ำมัน, กะละมัง, มีด, เขียง ฯลฯ

ขั้นตอนและวิธีการทำ ก็ไม่ยาก เครื่องปรุงก็ไม่ซับซ้อน ส่วนผสมหลัก ๆ ก็มีเครื่องเทศสมุนไพร เกลือ พริกไทยป่น น้ำตาลไอซิ่ง ถ้าต้องการรสชาติแบบไหนก็เพิ่มส่วนผสมนั้น ๆ ลงไป

ยกตัวอย่างวิธีการทำ 'กล้วยปรุงรส-รสสาหร่าย' เริ่มจากนำกล้วยที่เตรียมไว้ 6 หวีใหญ่ (เมื่อทอดออกมาแล้วจะได้น้ำหนักประมาณ 3 กก.) มาปอกเปลือก แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด วางไว้ให้สะเด็ดน้ำ จากนั้นก็นำมาฝานเป็นชิ้น ๆ กะขนาดให้เท่า ๆ กัน นำลงทอดในน้ำมันที่อุณหภูมิ 100 องศา ใช้เวลาประมาณ 15 นาที สังเกตดูสีกล้วยให้เป็นสีเหลืองทอง ตักขึ้นทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำมัน ตั้งพักไว้สักครู่

นำสาหร่ายอบแห้งที่เตรียมไว้ 150 กรัม มาฉีกเป็นชิ้น ๆ ขนาดพอประมาณ แล้วบดให้ละเอียด จากนั้นก็นำมาคลุกเคล้ากับกล้วยที่ทอดเสร็จแล้ว ตามด้วยเครื่องปรุงรสคือ พริกไทยป่น เกลือป่น น้ำตาลไอซิ่ง ปริมาณตามต้องการ ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากับกล้วยทอด เพียงเท่านี้ก็จะได้กล้วยปรุงรสสาหร่ายที่อร่อยแล้ว

หรือถ้าปรุงเป็น 'กล้วยปรุงรส-รสลาบ' ก็ต้องเพิ่มข้าวคั่วบด พริกป่น มะนาวผง ผักชีลาวอบแห้งป่น ลงไป ขณะที่ 'กล้วยปรุงรส-รสบาร์บิคิว' ก็เพิ่มกระเทียมอบแห้ง หรือ 'กล้วยปรุงรส-รสปาปริก้า' ก็เพิ่มผงรสปาปริก้า 'กล้วยปรุงรส-รสพิซซ่า' เพิ่มผงรสพิซซ่า หรือ 'กล้วยปรุงรส-รสช็อกโกแลต' ใส่ผงช็อกโกแลต เป็นต้น

ความพิเศษของสินค้าคือ 'ส่วนผสมทุกอย่างต้องอบแห้งและบดให้ละเอียด ให้มีความชื้นน้อยที่สุด' เพื่อที่เวลาผสมกับกล้วยแล้วจะไม่เป็นก้อน !

สำหรับราคาขาย ขึ้นอยู่กับขนาดบรรจุ ถ้าขนาดบรรจุ 25 กรัม ราคา 3 บาท, บรรจุ 40 กรัม ราคา 5 บาท และบรรจุ 120 กรัม ราคา 20 บาท

'การทำต้องเลือกกล้วยที่แก่จัด จะมีความหวานกลมกล่อมเป็นธรรมชาติ ขนาดชิ้นก็สำคัญ จะต้องไม่บางมาก หรือหนาเกินไปจนทำให้กล้วยแข็งกระด้าง อมน้ำมัน และหัวใจสำคัญอีกอย่างก็คือ น้ำมันที่ใช้ทอดต้องใช้น้ำมันปาล์ม จะไม่หืน เพราะถ้ามีกลิ่นหืนก็จะทำให้เสียรส' คุณจินตนาเผยเคล็ดลับ

ใครสนใจอยากลองชิมกล้วยปรุงรส 'บานาน่า' ก็ลองไปหาซื้อกันดู หรืออยากศึกษาดูงานทางคุณจินตนาก็บอกว่ายินดีต้อนรับ โดยติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มสตรีพัฒนากล้วยน้ำว้าไทย เลขที่ 22 หมู่ 3 ต.ทุ่งสมอ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี โทร. 0-3465-9078, 08-1941-5469, 08-1408-7889

อาจจะแค่ 'กล้วย' แต่บวกไอเดียดี ๆ ก็รวยได้!

คู่มือลงทุน..กล้วยน้ำว้าปรุงรส
ทุนอุปกรณ์ ประมาณ 40,000 บาท
ทุนวัตถุดิบ ไม่เกิน 60% ของราคาขาย
รายได้ 120 กรัม ราคา 20 บาท
แรงงาน 1-2 คนขึ้นไป
ตลาด ร้านค้าทั่วไป, ส่งเข้าห้าง
จุดน่าสนใจ คนไทยให้ความนิยมทาน

เชาวลี ชุมขำ - ธีพร บรรจงเปลี่ยน : รายงาน
จเร รัตนราตรี : ภาพ

สารพัด ‘ขนมปี๊บ’



สารพัด ‘ขนมปี๊บ’ ‘แบ่งแพ็กขาย’ กำไรดี


ขนมแห้งที่บรรจุปี๊บขายส่ง หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “ขนมปี๊บ” นั้น มีอยู่มากมายหลายชนิด ซึ่งก็สามารถนำมาใช้ทำเป็นธุรกิจค้าขายง่าย ๆ ทำรายได้อย่างสบาย ๆ โดยรูปแบบของธุรกิจที่ไม่มีความซับซ้อนอะไรมาก...

ดวงพร สีเมฆ ปัจจุบันยึดอาชีพ “แบ่งขนมปี๊บแพ็กขาย” ในตรา “ดวงพร” เจ้าตัวบอกว่า ทำอาชีพนี้มาได้ 4 ปีแล้ว ซึ่งเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้เสริมจากงานประจำได้เป็นอย่างดี

“ทำงานประจำเกี่ยวกับโฆษณามานาน พอระยะหลัง ๆ ก็ผันตัวเองมาทำแบบฟรีแลนซ์ คือรับงานอิสระ ดังนั้นก็พอจะมีเวลาว่างมากขึ้น จึงไม่อยากรอให้รายได้วิ่งเข้ามาหา เปลี่ยนเป็นเดินเข้าหารายได้บ้าง”

จุดเริ่มของธุรกิจเสริมตัวนี้ เริ่มจากไปช่วยเพื่อนแพ็กขนมผิงเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งลอตนั้นมีของเหลือ เพื่อนจึงบอกว่าให้เอาไปขาย จึงลองเอาไปขายตามเพื่อนแนะนำ ซึ่งปรากฏว่าขายได้ เหตุการณ์คราวนั้นก็ทำให้เข้าใจว่าสินค้า คือ ขนมผิง ซึ่งมีแหล่งวัตถุดิบจากจังหวัดสุโขทัยนั้น เป็นของดี ขายได้ “และจากความรู้จากการเรียนวิชาโฆษณามา ก็ทำให้ได้ช่องทางในการทำธุรกิจแบบย่อย ๆ”

เมื่อเราได้สินค้ามา ต่อไปเราก็ต้องหาสถานที่เพื่อวางจำหน่าย เริ่มต้นด้วยการขับรถตระเวนตามย่านถนนติวานนท์ เข้าไปติดต่อ ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าในโรงอาหารของสถานที่ราชการ ซูเปอร์มาร์เกต ตามคอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ ซึ่งก็มีนับสิบร้าน เข้าไปติดต่อเพื่อฝากขายขนม โดยการหาสถานที่เพื่อติดต่อขายของนั้นจะต้องหาในละแวกเดียวกัน และหาจำนวนร้านให้ได้มากในระดับหนึ่ง จะได้ไม่ต้องขับรถไกล เพราะต้องคิดถึงต้นทุนค่าน้ำมันรถด้วย

การเข้าไปติดต่อร้านค้าเพื่อนำเสนอขนมนั้น ก็จะต้องทำการหีบห่อให้สวยงาม ด้วยการแบ่งย่อยใส่ถุง ๆ ละ 100 กรัม ขายส่งในราคาถุงละ 8 บาท โดยทางร้านค้าจะขายปลีกในราคาถุงละ 10 บาท

ถุงที่ใช้จะใช้ถุงจีบพลาสติกใส มี 3 ขนาด คือ 5x8, 6x9 และ 7x11 ราคา กก.ละ 38 บาท ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์เบเกอรี่ หรือร้านขายขนมปี๊บที่ไปซื้อสินค้ามาแบ่งขาย

เสริมความสวยงามของถุงด้วยการตกแต่งโดยการใช้กระดาษห่อของขวัญที่หลากหลาย เพื่อไม่ให้สินค้าดูซ้ำซาก-จำเจ โดยจะต้องเลือกใช้ให้เข้ากับขนมและจะเป็นสัญ ลักษณ์ของการหมุนเวียนขนมด้วย

ดวงพรบอกต่อไปว่า สินค้าที่เริ่มต้นวางขายคือขนมไทย ๆ ขนมผิง กล้วยอบ เผือกเส้น ซึ่งวัตถุดิบคือ อ.บ้านกง จ.สุโขทัย สั่งตรงจากร้านที่จังหวัดและ หลัง ๆ เมื่อไปวางขายตามร้านแล้ว ทางเจ้าของร้านก็บอกว่าให้เอาขนมแบบนั้นแบบนี้มาขายด้วย ซึ่งก็ต้องสนองความต้องการของลูกค้า ไปหา “ขนมปี๊บ” ชนิดต่าง ๆ มาแบ่งแพ็กขาย

“ในละแวกบ้านมียี่ปั๊วร้านขนมปี๊บอยู่ร้านหนึ่งและเป็นร้านเดียวกับที่รับขนมจากสุโขทัยมาขายด้วย ดังนั้นเป็นอันว่าเราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องสั่งของจากสุโขทัยโดยตรง ซึ่งเป็นข้อดีอย่างหนึ่งที่ว่าของที่สั่งจากสุโขทัยนั้นเวลามาส่งที่กรุงเทพฯ แต่ละครั้งจะมาทีละลอตใหญ่ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง ดังนั้นเมื่อซื้อที่กรุงเทพฯ ได้เราก็สามารถนำเงินที่จะมาจ่ายเป็นค่าของลอตใหญ่นั้นมาแบ่งซื้อขนมปี๊บได้อีกหลาย ๆ อย่าง สินค้าจึงหลากหลาย”

ขนมปี๊บที่นำมาแบ่งขายนั้น ดวงพรบอกว่า ต้องชิมก่อน หมายความว่าสินค้าต้องดีและอร่อย อาทิ ขนมขาไก่ ขนมเกลียวช็อก ข้าวโพดอบกรอบ ขนมปังเวเฟอร์ ขนมปังรูปสัตว์รสช็อกโกแลต-วานิลลา ขนมพองพองช็อก เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้เป็นขนมที่ขายได้ดีเมื่อนำมาแบ่งแพ็กขาย

หลักการในการขายที่สำคัญอีกประการ เริ่มแรกจะต้องไม่ลงขนมเยอะไป เช่น แค่ร้านละ 12 ถุง เพื่อกันไม่ให้มีขนมเหลือเยอะ แต่ต้องมีหลายอย่าง ผ่านไป 1 สัปดาห์ก็ไปเก็บเงิน เก็บของที่อาจมีเหลือ เจ้าของร้านก็จะบอกว่าขนมอะไรขายดี-ขายไม่ดีในพื้นที่นั้น ๆ ขนมที่ขายดีแต่ละร้านจะไม่เหมือนกัน ก็ต้องจดไว้ สำหรับส่งของครั้งต่อไป

ปัจจุบันดวงพรยังนำ ขนมกรอบเค็ม ขนมถั่วตัด ฟักทองทอด มาเสริมเพิ่มความหลากหลายด้วย และยังฝึกทำ ก๋วยเตี๋ยวหลอด ข้าวตังหน้ากะทิ ขนมตะโก้ ซึ่งก็สามารถเสริมรายได้จากการขายของแบบนี้เพิ่มขึ้นอีก

ทั้งนี้ ขนมปี๊บนั้นเมื่อซื้อมาปริมาณจะอยู่ที่ 5 กก.เป็นมาตรฐาน ส่วนราคานั้นเฉลี่ยอยู่ที่ 255 บาทต่อปี๊บ แล้วแต่ว่าเป็นขนมอะไร และก็มีต้นทุนค่าถุง-ค่าตกแต่งถุง ค่าขนส่งอีกส่วนหนึ่ง การแบ่งขายจึงต้องขายให้ได้กำไรใกล้ 100% คือแบ่งใส่ถุง ๆ ละ 100 กรัม ขายในราคาส่ง 8 บาท ถ้าขายหมดก็ได้ 400 บาท

ใครสนใจขนม “ดวงพร” ก็ติดต่อได้ที่ โทร. 0-2588-2350 และ 08-6985-9058 ทั้งนี้ ธุรกิจ “แบ่งขนมปี๊บแพ็กขาย” นั้นเป็นอีกรูปแบบธุรกิจค้าขายง่าย ๆ แต่เป็น “ช่องทางทำกิน” ที่น่าสนใจทีเดียว!

คู่มือลงทุน....แบ่งขนมปี๊บขาย
ทุนเบื้องต้น ประมาณ 5,000 บาท
ทุนวัตถุดิบ ไม่เกิน 300 บาท/ปี๊บ
รายได้ 400 บาท/ปี๊บขึ้นไป
แรงงาน 1 คน
ตลาด ฝากขายราคาส่งตามร้านค้าทั่วไป
จุดน่าสนใจ ทำง่ายกำไรดี, เป็นอาชีพเสริมได้

หัวใจประดิษฐ์



‘หัวใจประดิษฐ์’ กระดาษสาเก่า ‘เป็นเงิน’


เรื่องของงานฝีมืองานประดิษฐ์หากรู้จักมองตลาด รู้จักจับกระแส สร้างสรรค์ให้เข้ากับเทศกาล ก็สามารถขายได้สม่ำเสมอทั้งปี และจะดียิ่งขึ้นหากพัฒนาสินค้าให้หลากหลายมากขึ้น โดยไม่ยึดติดอยู่กับรูปแบบเก่าๆ

อย่างเช่นงาน “หัวใจประดิษฐ์” ที่ผลิตจากวัตถุดิบกระดาษสา รายนี้...

พรรณี ตรีชัย ประธานกลุ่มทำการ์ดอวยพรกระดาษสา เริ่มจับ “งานกระดาษสา” มานาน 7-8 ปีแล้ว โดยเริ่มจากการทำการ์ดอวยพรก่อน จากนั้นจึงแตกชนิดสินค้าเพิ่มขึ้น จนปัจจุบันมีตั้งแต่การ์ดอวยพร วัสดุสำหรับตกแต่งงานฝีมือ พวงมาลัยจากกระดาษสา จนถึง “หัวใจ” ทรงทึบและโปร่งที่ประดิษฐ์ขึ้นจากกระดาษสา ซึ่งจากประสบการณ์เกี่ยวกับงานด้านกระดาษสาที่มีมายาวนาน ทำให้รู้ว่า “การเลือกใช้กระดาษเก่าใช้แล้ว หรือกระดาษรีไซเคิล มีข้อดีมากกว่าการเลือกใช้กระดาษใหม่” เนื่องจากกระดาษเก่ามีโซดาไฟไม่มาก ทำให้สีติดดีและสวยคงทนกว่ากระดาษใหม่ ที่สำคัญช่วยลดมลพิษและประหยัดต้นทุนลงได้มาก

สำหรับงานที่ทำอยู่เธอบอกว่า เริ่มจากการทำ “หัวใจประดิษฐ์” ในกระถาง ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้า ต่อมาเริ่มมีลูกค้าเรียกร้องมากขึ้นว่าต้องการหัวใจขนาดใหญ่ขึ้น และต้องการหัวใจดวงเดี่ยว ๆ เพื่อนำไปใช้เป็นของชำร่วยในงานแต่งงาน หรือประดับตกแต่งในงาน จึงทำให้มีสินค้าเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งชนิด

ตลาดสินค้านั้นนอกจากในประเทศแล้ว ผลงานหัวใจประดิษฐ์ยังส่งออกได้อีกด้วย อาทิ ประเทศอิตาลี ยูเครน และฮ่องกง และบางทีลูกค้าก็ต้องการให้ทำขึ้นเป็นพิเศษเพื่อใช้ในโอกาสพิเศษ โดยมีตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงผู้ใหญ่

“ตอนนี้ลูกค้าต้องการมาก ยิ่งในช่วงเทศกาลเว็ดดิ้งหรือช่วงวัน วาเลนไทน์ สินค้าจะยิ่งขายดี”

กับเงินทุนที่ใช้ในการประกอบอาชีพนี้ หากทำเต็มรูปแบบจริงจังต้องใช้งบลงทุนเบื้องต้นประมาณ 300,000 บาท โดยจะหนักในเรื่องของอุปกรณ์ “เครื่องกดและแม่พิมพ์กลีบดอกไม้” สำหรับกดกระดาษสาให้เป็นรูปดอกไม้ โดยตกราคาเครื่องละประมาณ 100,000 บาท ขณะที่แม่พิมพ์หรือโมขึ้นลายต้องสั่งทำกับโรงกลึงเหล็ก เฉลี่ยชุดละ 1,000 บาท ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ประมาณ 80% จากราคาขาย แต่เมื่อทำไปนาน ๆ ก็จะอยู่ตัวและสามารถถอนทุนคืนได้ ซึ่งจะทำให้มีกำไรเฉลี่ยที่มากขึ้นในอนาคต

วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้หากไม่นับเครื่องกดและแม่พิมพ์ทำกลีบดอกไม้ก็จะมี

อาทิ กระดาษสา, เกสร ดอกไม้, สีย้อมผ้า, กาวเทส เตอร์ชอย (กาวญี่ปุ่น), โฟม, กรรไกร, คัตเตอร์ และวัสดุตกแต่ง เช่น ริบบิ้น, ฟลอร่าเทป

“การลงทุนครั้งแรก หากต้องการผลิตเยอะ ๆ ก็ต้องใช้เครื่องกดพิมพ์ แต่ถ้าแค่ทำเป็นอาชีพเสริมก็อาจจะใช้กรรไกรค่อย ๆ ตัดกระดาษให้เป็นดอกไม้ก็ได้ แต่จะช้ากว่า”

ขั้นตอนการทำ เริ่มจากนำกระดาษสารีไซเคิลมาเข้าเครื่องกดขึ้นรูปสำหรับทำกลีบดอกไม้ ทำไปเรื่อย ๆ จนได้จำนวนตามต้องการ หรืออาจจะทำเผื่อไว้สำหรับใช้ในอนาคตก็ได้ จากนั้นนำกลีบดอกที่ได้ไปย้อมสีและนำออกไปผึ่งลมให้แห้งสนิท ใช้เวลาประมาณ 2 วัน โดยต้องระวังอย่าให้โดนแดด เนื่องจากจะทำให้สีตก

จากนั้นนำโฟมมาตัดให้เป็นรูปทรงหัวใจในขนาดที่ต้องการ หรือหากต้องการประหยัดเวลา ก็อาจจะสั่งร้านตัดโฟมให้ตัด ตามแบบและขนาดที่เรากำหนดก็ได้ เมื่อได้โฟมรูปหัวใจแล้วก็มาถึงขั้นตอนการทำดอกไม้ ดอกไม้ส่วนใหญ่ที่นิยมคือ ดอกกุหลาบ เริ่มจากนำเกสรดอกไม้มาเสียบเข้าตรงกลางกลีบดอกอันแรก โดยใช้กาวเทสเตอร์ชอยหรือกาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกาวใส เวลาทาแล้วจะไม่ค่อยมีรอย เป็นตัวเชื่อมยึด จากนั้นพับกระดาษเข้าไปให้เป็นรูปทรงของดอก ทำแบบนี้ประมาณ 4 ชั้น จากนั้นนำกลีบเลี้ยงมาประกอบด้วยวิธีเดียวกัน

นำดอกที่ได้ทั้งหมดมาทากาวตรงก้าน จากนั้นเสียบลงบนโฟม วิธีการติดดอกไม้กับโฟมจะต้องเริ่มจากด้านบนของหัวใจไล่ไปจนถึงท้ายหัวใจ ขณะเสียบดอกไม้ต้องคอยบีบบริเวณไหล่หัวใจให้เข้ารูปโค้ง เพื่อจัดไหล่ของหัวใจให้เท่ากัน เมื่อเสียบครบหมดทั้งดวงก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำ




“หัวใจดวงหนึ่งใช้ดอกกุหลาบประมาณ 200-250 ดอก ขึ้นกับขนาดโฟมและดอกที่ใช้ การเสียบดอกไม้ถ้ายังไม่ชำนาญให้ร่างแบบก่อน เพราะก่อนเสียบต้องทากาวที่ก้านดอก ซึ่งพลาดแล้วพลาดเลย”

ราคาขายหัวใจประดิษฐ์นั้น หากเป็นหัวใจในกระถางอยู่ที่ 55-145 บาท, หัวใจเป็นดวงตกดวงละ 120-250 บาท และพวงมาลัยประดิษฐ์เริ่มต้นที่ 120 บาทขึ้นไป

“เราต้องพัฒนาตลอด เพราะในตลาดจะมีการเลียนแบบ ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาพื้นฐานของสินค้างานฝีมือ ดังนั้นห้ามหยุดนิ่ง ต้องคิดแบบใหม่ ๆ ไว้จะได้ไม่ซ้ำกับใคร อีกทั้งทำให้งานไม่ซ้ำซากจำเจ” เจ้าของงานบอก

สนใจงานผลิตภัณฑ์ “หัวใจประดิษฐ์” หรือต้องการซื้ออุปกรณ์ ติดต่อ พรรณี ตรีชัย กลุ่มทำการ์ดอวยพรกระดาษสา ได้ที่เลขที่ 310 ซอยวงศ์สว่าง 11 เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ โทร. 0-2913-1900-1, 08-1515-1940

ส่วนคนที่สนใจอยากจะลองฝึกทำงานประเภทนี้ก็สามารถสอบถามไปได้เช่นกัน

'ตุ๊กตาผ้า'



'ตุ๊กตาผ้า' ขายได้ขายดีทุกเทศกาล


ถ้าพูดถึงของขวัญที่ได้รับความนิยม หนึ่งในของที่คนส่วนใหญ่มักจะซื้อเพื่อเป็นของขวัญมอบให้กับคนที่รักในงานเทศกาลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ปีใหม่ วาเลนไทน์ รับปริญญา วันเด็ก ฯลฯ ก็จะรวมถึง “ตุ๊กตา” ที่มิใช่แค่ของเล่น เด็กเท่านั้น ซึ่ง “ตุ๊กตาผ้า” ก็เป็นหนึ่งในตุ๊กตายอดฮิต และวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมานำเสนอ...

สุชญา สุขหงษ์ ประธานกลุ่มหัตถกรรมผลิตตุ๊กตาบ้านวังน้ำเขียว ต.วังน้ำเขียว อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม เป็นผู้ที่ผลิตและจำหน่ายตุ๊กตาทุกชนิด ภายใต้ชื่อ “PLOY TOYS” ซึ่งมีประสบการณ์ในการผลิตตุ๊กตามานานกว่า 10 ปี ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมีจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ

ก่อนที่จะมายึดอาชีพทำตุ๊กตานั้น สุชญาเล่าว่า เคยทำงานบริษัทผลิตตุ๊กตาส่งออก อยู่ฝ่ายการตลาด แต่ในช่วงยุคเศรษฐกิจฟองสบู่แตก บริษัทที่ทำอยู่ก็เริ่มให้คนงานออก และตนก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น หลังจากตกงานก็เริ่มหาช่องทางอาชีพทำ และก็ตกลงกับสามีว่าจะมาทำ “ตุ๊กตา” ขาย

“จากที่เคยอยู่ฝ่ายการตลาดของบริษัทเก่า ทำให้เห็นว่ายอดขายตุ๊กตามียอดจำหน่ายที่สูง บวกกับเป็นคนที่ชอบตุ๊กตาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงยิ่งทำให้เป็นเรื่องง่ายในการที่จะตัดสินใจทำตุ๊กตาผ้าขาย”

การทำตุ๊กตาอาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนที่ไม่มีความรู้ทางด้านนี้ แต่ก็ไม่ยากถ้ามีความพยายาม พอเริ่มที่จะทำจริงจังก็เริ่มศึกษาวิธีการทำด้วยตัวเอง โดยหาซื้อตุ๊กตาผ้ามาแกะแยกชิ้นส่วนออกจนหมดทุกชิ้น เพื่อที่จะนำมาเป็นตัวอย่างในการทำ แรก ๆ ตุ๊กตาที่ทำออกมาจะนำไปขายตามงานวัดและตลาดนัด

ตุ๊กตาที่ผลิตขึ้นก็พอขายได้ แต่ยังไม่ค่อยมีมาตรฐาน อีกทั้งการบริหารจัดการต่าง ๆ ก็ยังไม่ดี สุชญาจึงเข้าไปอบรมในโครงการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถด้านบริหารจัดการธุรกิจในแต่ละด้าน ให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน

หลังจากที่ได้เข้าอบรมก็สามารถวางแผนในการจัดการธุรกิจได้ดีขึ้น รู้จักการจัดทำบัญชี ได้เรียนรู้เทคนิคด้านการตลาด เทคนิคการขาย จากนั้นก็เริ่มมาพัฒนากลุ่มผลิตตุ๊กตาให้มีมาตรฐานมากขึ้น จนปัจจุบันผลิตภัณฑ์เริ่มเป็นที่ยอมรับจากลูกค้า ผลิตส่งให้กับบริษัทลิขสิทธิ์ถึง 70% และทางกลุ่มผลิตจำหน่ายเอง 30%

“ธุรกิจผลิตตุ๊กตาผ้า สินค้าที่ผลิตออกมาจะต้องเป็นที่ถูกใจลูกค้าจึงจะขายได้ เพราะฉะนั้นรูปแบบของตุ๊กตาจะต้องมีความโดดเด่น ที่สำคัญจะทำให้ธุรกิจไปรอดก็จะต้องเน้นในเรื่องคุณภาพสินค้า ตรงต่อเวลา และความซื่อสัตย์” สุชญากล่าว

ในการผลิต “ตุ๊กตาผ้า” ขาย วัสดุอุปกรณ์ในการทำที่สำคัญ ๆ ก็มีจักรเย็บผ้า, ผ้าสำหรับทำตุ๊กตาโดยเฉพาะ, ใยสำหรับยัดในตัวตุ๊กตา...

แหล่งวัตถุดิบที่เป็นแหล่งใหญ่ที่สามารถไปหาซื้อได้อยู่ที่ย่านบางบอน...

ขั้นตอนการทำ เริ่มจากออกแบบตุ๊กตา หรือหาต้นแบบตุ๊กตาที่ต้องการจะทำ หลังจากที่ได้แบบที่ต้องการก็ทำแพตเทิร์น ซึ่งตุ๊กตา 1 ตัว อาจมีแพตเทิร์น 25-40 ชิ้น จากนั้นก็นำแพตเทิร์นไปวางทาบบนผ้า วาดตามรอยจากนั้นก็ตัดตามรอยเส้น ซึ่งวิธีนี้เป็น วิธีที่ง่าย แต่งานอาจจะช้าหน่อย

ในส่วนของสุชญาจะใช้วิธีการนำแพตเทิร์นที่ได้ไปวาดลงบนแผ่นกระเบื้องกันความร้อน จากนั้นก็จะตัดตามแบบ ใช้เส้นลวดกันความร้อนชนิดแบนติดตามขอบกระเบื้องกันความร้อนที่ตัดตามแพตเทิร์น ล็อกติดเข้าด้วยกันโดยใช้ลวดกันความร้อนเส้นเล็กเป็นตัวรัด เชื่อมต่อสายไฟที่จะต้องไปเสียบเข้ากับหม้อแปลงไฟฟ้าปรับแรงดัน สุดท้ายต่อด้ามจับด้วยไม้ วิธีการใช้ก็แค่เสียบปลั๊กไฟเข้ากับหม้อแปลงปรับแรงดันไฟฟ้า รอให้ลวดเกิดความร้อน จากนั้นก็ทำการปั๊มลงบนผ้า

วิธีนี้เป็นวิธีที่รวดเร็วในการตัดผ้า แต่ก็ต้องใช้ทุนสูงหน่อย โดยหม้อแปลงปรับแรงดันไฟฟ้ามีราคาอยู่ที่ประมาณ 12,000-13,000 บาท...

เมื่อได้ชิ้นส่วนตุ๊กตาทุกชิ้นครบ ก็ทำการเย็บแต่ละชิ้นให้เรียบร้อย ขั้นตอนต่อไปก็คือการยัดใย ก่อนยัดใยก็นำชิ้นส่วนที่แยกเย็บมาเย็บประกอบกันให้เรียบร้อย แล้วทำการยัดใย ยัดเสร็จก็ทำการตกแต่งภายนอกให้เรียบร้อย

การยัดใยใส่ในตัวตุ๊กตานั้นสามารถยัดด้วยมือได้สำหรับผู้ที่ยังไม่มีเงินทุนที่จะซื้อเครื่องฉีดใย ส่วนเครื่องฉีดใยนั้นมีราคาอยู่ที่ประมาณ 300,000 บาท ซึ่งคุณภาพตุ๊กตาที่ยัดใยด้วยเครื่องก็จะนิ่งกว่าการใช้มือ

จากนั้นก็ทำการเย็บปิดรูของตัวตุ๊กตาที่เป็นจุดยัดใย ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอน พร้อมจำหน่าย

ตุ๊กตาของกลุ่มหัตถกรรมผลิตตุ๊กตาบ้านวังน้ำเขียว มีราคาขายตั้งแต่ 30-1,000 บาท โดยมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 70% ของราคาจำหน่าย ใครสนใจสั่งซื้อก็สามารถติดต่อได้ที่ โทร. 08-1616-5967

จะสั่งไปจำหน่ายต่อเป็นอาชีพ หรือจะลองฝึกฝนทำขายเองก็สุดแท้แต่ !!.

คุกกี้แฟนซี



คุกกี้แฟนซี เงินดีเทศกาลปีใหม่

งานฝีมือบางชนิดสามารถนำมาผนวกใช้ได้หลายด้าน แม้แต่ในเรื่องของอาหารและขนม ที่หากรู้จักที่จะนำฝีมือมาใส่ไอเดีย มาสร้างสรรค์ ก็สามารถที่จะสร้างอาหารการกินรูปแบบเก๋ ๆ สร้างกำไรได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

อย่างเช่น “คุกกี้แฟนซี” ของ “สิริพร ศรีเพ็ง” รายนี้...




สิริพรเล่าว่า ไม่ได้เรียนจบมาทางด้านการทำอาหารหรือเบเกอรี่ ทว่าเรียนจบมาทางด้านนาฏยศิลป์จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ด้วยความที่เป็นคนชอบงานประดิษฐ์ งานเย็บปักถักร้อย ควบคู่ไปกับการทำขนม จึงพยายามศึกษาและลองหัดทำด้วยตัวเอง จนเริ่มมีความชำนาญ กับ “คุกกี้แฟนซี” นี้ก็ยึดเป็นอาชีพเสริมมาได้ 2 ปีแล้ว โดยยามว่างจากงานประจำที่เกี่ยวกับธุรกิจค้าขายวัสดุก่อสร้างก็จะทำขาย โดยเฉพาะในช่วงก่อนเทศกาลปีใหม่ โดยจะนำไปฝากขายตามร้านจำหน่ายอุปกรณ์เบเกอรี่และร้านขายของฝาก

ในตอนแรกตั้งใจจะทำเป็นแค่ขนมทานเล่นจำพวกแครกเกอร์เท่านั้น แต่ต่อมามีร้านขายอุปกรณ์เบเกอรี่แนะนำว่าจริง ๆ แล้วคุกกี้แฟนซีของเธอสามารถขายในกลุ่ม “วัสดุตกแต่งเบเกอรี่” ได้ด้วย เพราะในช่วงปีใหม่ร้านเบเกอรี่ส่วนใหญ่จะผลิตเค้กจำนวนมาก ทำให้บางครั้งการตกแต่งหน้าเค้กด้วยการวาดหน้าเค้กเพียงอย่างเดียวอาจไม่ทัน-ไม่โดนความต้องการของลูกค้า ก็อาจหันมาใช้คุกกี้แฟนซีเหล่านี้ประดับแทน

เจ้าของไอเดียบอกว่า นอกจากจะใช้ประดับหน้าเค้กได้แล้ว ร้านไอศกรีม ร้านน้ำแข็งไส ก็นิยมใช้คุกกี้แฟนซีประดับตกแต่งด้วยเช่นกัน “สินค้าก็เลยขายได้ทั้ง 2 กลุ่ม คือ ขนมทานเล่น กับวัสดุตกแต่งเบเกอรี่”

สำหรับทุนเบื้องต้นในการทำอาชีพนี้นั้น เธอบอกว่า ใช้เงินลงทุนน้อยมาก หากไม่ต้องลงทุนในเรื่องของอุปกรณ์ชิ้นใหญ่อย่างเตาอบอุตสาหกรรม โดยเงินลงทุนนั้นอยู่ที่ไม่เกิน 1,000 บาท ส่วนทุนวัตถุดิบต่อกำลังการผลิตที่ 300 ชิ้น ใช้เงินทุนในส่วนนี้เพียงแค่ไม่เกิน 200 บาท

ขณะที่เรื่องรายได้-การจำหน่ายเธอบอกว่า จากการที่ทำจำหน่ายมาเป็นเวลา 2 ปี เฉพาะในช่วงก่อนเทศกาลปีใหม่ถือว่ารายได้ค่อนข้างดี ลงทุนค่อนข้างน้อย ใช้เวลา ฝีมือ และไอเดียในการคิดหน้าคุกกี้เป็นหลัก โดยราคาที่จำหน่ายอยู่นั้น ราคาขายปลีก 20 ชิ้น 35 บาท และราคาขายส่งอยู่ที่ 100 ชิ้น 100 บาท

อุปกรณ์ที่ใช้

ก็มีเพียงถาดสำหรับตากคุกกี้

ชามหรือกะละมังใส่ส่วนผสมหน้าคุกกี้ และที่ตีส่วนผสม


ซึ่งส่วนผสมที่ใช้ในการผลิตครีมสำหรับวาดหน้าคุกกี้ มี



ไข่ขาว (ไข่ไก่ขนาด กลาง) 3 ฟอง

น้ำตาลไอซิ่ง 500 กรัม

มัลติฟลายเออร์หรือศัพท์ที่คนทำเบเกอรี่รู้จักดีในชื่อย่อว่า เอส.พี. ประมาณ 1 ช้อนชา

คุ้กกี้

สีผสมอาหารชนิดผง


“ส่วนใหญ่จะเลือกใช้คุกกี้หรือขนมปังกลมชนิดเค็ม เพราะเนื่องจากเนื้อครีมที่ใช้ทำหน้าคุกกี้มีรสหวานอยู่แล้ว หากใช้ขนมปังหรือคุกกี้ที่มีรสหวานจะทำให้คนทานรู้สึกว่าหวานหรือเลี่ยนจนเกินไป จึงใช้คุกกี้ที่มีรสเค็มเป็นตัวตัดความหวานของหน้าคุกกี้”




ขั้นตอนการทำ

เริ่มจากนำไข่ไก่ 3 ฟองมาตอกออกและคัดเฉพาะไข่ขาวมาใช้งานเท่านั้น

จากนั้นนำน้ำตาลไอซิ่งที่เตรียมไว้ในจำนวน 500 กรัมผสมลงไปในไข่ขาว และใส่มัลติฟลายเออร์ หรือ เอส.พี.ลงไปประมาณ 1 ช้อนชา

หยดสีผสมอาหารลงไปในส่วนผสมข้างต้นเพียงเล็กน้อย

จากนั้นใช้ที่ตีส่วนผสมตีหรือคนให้เข้ากันจนเป็นเนื้อครีมที่ต้องการ หากต้องการสีอื่นก็ให้ทำตามส่วนผสมนี้ เพียงแต่เปลี่ยนสีและกลิ่นที่ใช้ตามต้องการ (สาเหตุที่ใช้สีผสมอาหารชนิดผงนั้น เจ้าของสูตรบอกว่า เพื่อไม่ให้เนื้อครีมมีส่วนผสมที่เป็นน้ำมากเกินไป จนทำให้ความเข้มข้นและความหนืดของเนื้อครีมลดลง)

นำเนื้อครีมที่ได้มาอัดใส่กรวยสำหรับวาดหน้าเค้ก โดยอาจจะใช้ถุงพลาสติกที่ม้วนจนเป็นรูปกรวยแทนการใช้กรวยสำเร็จรูป เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนในเรื่องวัสดุ

เมื่อนำเนื้อครีมใส่กรวยวาดหน้าเค้กแล้ว ก็เริ่มทำการหยอดให้เป็นรูปตามที่จินตนาการลงบนคุกกี้

พอวาดหน้าคุกกี้เสร็จแล้วก็นำไปตากแดดโดยใช้เวลาตากประมาณ 1 วัน หรือหากอบคุกกี้ในเตาอบอุตสาหกรรม ก็ให้ใช้ความร้อนประมาณ 180 องศาฟาเรนไฮต์ โดยใช้เวลาอบประมาณ 10 นาที

จากนั้นผึ่งให้เย็นสักครู่ ก่อนจะนำบรรจุถุง



“ส่วนใหญ่ที่นิยมตอนนี้จะเน้นไปที่ตัวการ์ตูนน่ารักสีสันสดใส ส่วนความละเอียดหรือรูปแบบขึ้นอยู่กับคนทำเป็นสำคัญ เรียกได้ว่าไอเดียไม่มีตัน อยู่ที่ว่าใครจะคิดรูปแบบไหนออกมา ยิ่งใช้หีบห่อบรรจุภัณฑ์สวยงามก็จะยิ่งทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีก” ...เจ้าของสูตรคุกกี้แฟนซีกล่าว

ปัจจุบัน สิริพร ศรีเพ็ง ทำ “คุกกี้แฟนซี” อยู่ที่ 45/1 หมู่ 3 อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ใครอยากจะติดต่อก็ โทร.08-7070-0039 ซึ่งเจ้าตัวบอกทิ้งท้ายว่า อาชีพนี้ไม่ยาก ใครสนใจก็ลองฝึกหัดทำตามขั้นตอนที่กล่าวมา...

อาจจะเป็นรายได้หลัก-รายได้เสริมที่ดีในช่วงปีใหม่นี้ !!.

โมเสกกระดาษ



‘โมเสกกระดาษ’ งานไอเดียทำเงินรับปีใหม่


เข้าสู่ปลายปีก็ใกล้เทศกาลมอบของขวัญปีใหม่ “งานประดิษฐ์” ก็เป็นอีกหนึ่งสินค้าที่จะขายดีช่วงปลายปี ซึ่งวันนี้ทีมงาน “ช่องทางทำกิน” ก็มีงานประดิษฐ์เก๋ ๆ อีกรูปแบบมานำเสนอ กับงาน “โมเสกจากกระดาษ”


ปุก-ประภาศรี ธนีภาพ อายุ 43 ปี เป็นเจ้าของร้าน “ล้านกาปุก” ซึ่งเป็นร้านที่ขายของเกี่ยวกับงานประดิษฐ์ และยังเป็นผู้ที่คิดค้นการทำงาน “โมเสกจากกระดาษ” ซึ่งทำมานานกว่า 2 ปี โดยเจ้าตัวเล่าว่า หลังจากเรียนจบปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็เข้าทำงานรับราชการ เป็นผู้ควบคุมความประพฤติ

งานนี้คงเป็นงานที่เหนื่อยและหนักเกินไปสำหรับปุก ทำได้เพียง 3 เดือน ปุกก็เริ่มมองหางานใหม่ จนได้งานที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ทำเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จึงตัดสินใจลาออกจากอาชีพรับราชการ โดยระหว่างที่ทำงานบริษัทอยู่นั้น ด้วยความที่เป็นคนที่ชอบเรียนรู้ ประกอบกับชอบงานด้านการประดิษฐ์ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ก็ไปลงเรียนอบรมด้านการประดิษฐ์ และหลังจากทำงานบริษัทอยู่ 2 ปี ก็ต้องออกจากงาน เพราะพิษเศรษฐกิจตกต่ำ

หลังออกจากงานก็มานั่งว่างอยู่บ้านได้ระยะหนึ่ง ก็มีโอกาสได้เข้าไปเป็นวิทยากรของเกษตรศาสตร์ สอนศูนย์ กศน.สายอาชีพที่เขตราชเทวี จากนั้นก็ได้เป็นวิทยากรสอนทำดอกไม้ประดิษฐ์จากดินให้กับทหารผ่านศึกที่โรงพยาบาลพระมงกุฎ และด้วยความที่เป็นคนไม่ชอบอะไรซ้ำซากจำเจ เป็นคนที่มีจินตนาการสูง ปุกจึงพัฒนางานที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ขึ้นมาเรื่อย ๆ จนมาเป็น “งานโมเสกจากกระดาษ” ซึ่งเกิดจากการที่เธอได้เห็นฝาผนังในห้องน้ำที่เป็นงานโมเสกที่ทำจากกระเบื้อง มีลวดลายต่าง ๆ สวยงาม

“ก็เห็นว่ามันน่าจะนำมาดัดแปลงประยุกต์ใช้กับวัสดุที่ไม่แพงและออกมาสวยได้ จึงลองคิดดู ก็เลยได้ออกมาลงตัวที่การใช้กระดาษเป็นวัสดุ แรก ๆ งานส่วนใหญ่จะเป็นลายเส้นธรรมดา จากนั้นก็ค่อย ๆ เรียนผิดเรียนถูกพัฒนางานมาเรื่อย ๆ จนมาเป็นงานโมเสกอย่างที่เห็นในปัจจุบัน”




คนที่คิดจะทำงานประดิษฐ์ ปุก บอกว่า นอกจากจะต้องเป็นคนที่ชอบในงานประดิษฐ์แล้วจำเป็นต้องมีไอเดีย มีจิตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ไม่หยุดนิ่ง ต้องคิดงานใหม่ ๆ ออกมาตลอดเวลา ถึงจะได้ลูกค้าที่หลากหลายกลุ่ม และก็จะอยู่รอด

สำหรับการทำโมเสกจากกระดาษ อุปกรณ์นั้นมีดังนี้คือ กระดาษแข็ง (ใช้แบบที่หนาที่สุด), กระดาษชานอ้อย, สีอะคริลิก, กาวลาเท็กซ์, ครีมสร้างลายนูน, ยูรีเทรนสูตรน้ำสำหรับเคลือบเงา, พู่กันระบายสี, ไดร์เป่าผม

อุปกรณ์ทั้งหมดนี้สามารถหาซื้อได้จากร้านขายอุปกรณ์เครื่องเขียนทั่วไป

การทำ

> ขั้นแรกเริ่มจากการคิดว่าจะทำอะไร อาทิ กล่องใส่ทิซชู ก็นำกระดาษแข็งชนิดที่หนาที่สุดมาทำการตัดและขึ้นรูปโดยใช้กาวลาเท็กซ์เป็นตัวยึดให้เป็นชิ้นงานที่ต้องการ

> จากนั้นตัดกระดาษชานอ้อยให้เป็นชิ้น ๆ จะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม วงกลม หรือสามเหลี่ยม ขนาดจะเล็กหรือใหญ่ ตัดตามต้องการโดยใช้จินตนาการ แล้วก็นำกระดาษชานอ้อยที่ตัดเสร็จแล้วนำไปติดบนชิ้นงานที่ขึ้นรูปไว้ด้วยกาวลาเท็กซ์

> การติดกระดาษแต่ละชิ้นต้องให้มีความห่างกันพอสมควร ไม่ควรติดกันจนแน่นเกินไป เมื่อติดเสร็จเรียบร้อยก็ทิ้งไว้ให้แห้ง จากนั้นใช้เนื้อครีมสร้างลายนูนทำการยาลงไปตามแนวร่องของกระดาษ

“วิธีการยาแนวก็ไม่ยาก ใช้นิ้วป้ายครีมสร้างลายนูนแล้วก็ทาลงไปตามแนวร่องให้ทั่ว โดยไม่ลงหนาจนเกินไป การยาแนวนั้นจะต้องยาให้ดีไม่ให้เกิดฟองอากาศ ถ้าเกิดฟองอากาศก็ยาทับให้แน่นเพื่อความสวยงาม”

> เมื่อลงเนื้อครีมสร้างลายนูนเสร็จก็ทำการลงสีตามความต้องการได้ทันที ไม่ต้องรอให้ครีมแห้ง ในกรณีที่ลงครีมไม่หนามาก แต่ถ้าลงเนื้อครีมหนาเกินควรทิ้งไว้ให้แห้งก่อนลงสีประมาณ 30 นาที หลังจากสีแห้งก็ทำการเคลือบเงาด้วยยูรีเทรนสูตรน้ำ เท่านี้ก็เสร็จ

> รูปหรือลวดลายต่าง ๆ สามารถใช้สีวาดลงไปก็ได้ หรือใช้รูปภาพติดแทนก็ได้

“การทำโมเสกจากกระดาษนั้นสามารถทำได้กับหลายวัสดุ ไม่ว่าจะเป็นไม้ยาง, ไม้อัด, กระจก หรือแม้แต่ทำบนเทียนไข วิธีการทำก็เหมือนทำบนกระดาษ เพียงแต่เราเปลี่ยนวัสดุ” ปุกบอก


งานโมเสกจากกระดาษเป็นงานที่ทำต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอื่น ๆ ได้ด้วย อย่างเช่น กรอบรูปที่เรียบ ๆ ธรรมดา ถ้าลงเทคนิคการทำโมเสกจากกระดาษเข้าไป กรอบรูปนั้นก็จะมีราคาที่เพิ่มขึ้นมาทันที

ผลงานของปุกกับงานโมเสกจากกระดาษนั้น มีมากมายหลากหลาย มีตั้งแต่ของขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นที่ติดตู้เย็น กรอบรูป กล่องใส่ของ นาฬิกา ที่แขวนผนัง และอื่น ๆ โดยมีราคาตั้งแต่ 40-750 บาท ราคาก็จะขึ้นอยู่กับขนาดและความยากง่ายของลวดลายในแต่ละชิ้น

ใครสนใจงาน “โมเสกจากกระดาษ” ของร้านล้านกาปุก ร้านนี้อยู่ที่ห้างแฟชั่นไอส์แลนด์ ชั้น 3 โซนที่ขายงานประดิษฐ์ รับสั่งทำตามออร์เดอร์ หรือสนใจจะติดต่อปุกให้ไปสอนการทำงานประดิษฐ์ งานฝีมือ ก็โทรศัพท์สอบถามได้ที่ โทร.08-1398-3714.

ผักเดลิเวอรี่ ขายถึงที่



ผักเดลิเวอรี่ ขายถึงที่...ทั้งปลีก-ส่ง


ยุคนี้ร้านขายของชำ-ขายผักค่อย ๆ ทยอยหายไป ขณะเดียวกันก็มี “รถปิกอัพขายผัก” และขายของประเภทเครื่องปรุงอาหารต่าง ๆ เกิดขึ้นมาแทนที่ โดยตระเวนขายไปตามแหล่งชุมชนที่อยู่อาศัยทั่วไป ซึ่งวันนี้ทีมงาน “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลการทำอาชีพค้าขายรูปแบบนี้มาเล่าสู่กันฟัง...

ทนงชัย คำผุย อายุ 30 ปี เป็นอีกหนึ่งคนที่ยึดอาชีพเป็นพ่อค้าขายผักแบบเร่ขายด้วยรถปิกอัพ โดยเจ้าตัวบอกว่า ทำอาชีพนี้มาประมาณ 2 ปีแล้ว ก่อนหน้านั้นตนทำงานก่อสร้างมาราว 7 ปี หลังจากที่ทำงานเก็บเงินได้ก้อนหนึ่งน้องชายก็แนะนำให้มาทำอาชีพขายผักส่งแบบเร่ขาย เพราะเขาทำอยู่ก่อนแล้ว และรายได้ค่อนข้างดี

“พี่น้องผม 7 คน ทำแบบนี้ 6 คนแล้ว และผมยังแนะนำให้เพื่อนทำแบบนี้เช่นเดียวกัน”

ทนงชัยเริ่มต้นธุรกิจดังกล่าวนี้ด้วยการดาวน์รถด้วยเงิน 39,000 บาท และจะต้องผ่อนส่งเดือนละ 7,000 บาท โดยใช้เวลาส่งรถ 6 ปี เมื่อซื้อรถมาแล้วก็มาต่อส่วนของโครงสร้างรถเพิ่มเติม เช่น ต่อแผง ซื้อตะกร้า กิโล และอุปกรณ์เพิ่มเติมอีกประมาณ 1,000 บาท

ในการขายแต่ละวันจะลงทุนผักวันละ 7,000-10,000 บาท แล้วแต่ออร์เดอร์ของลูกค้าว่ามากน้อยเท่าไหร่ ซึ่งตนเองจะเน้นขายส่งตามร้านอาหาร โดยหากขายผักหมดจะได้กำไรหลังหักทุนวันละ 1,500-1,600 บาท

นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายเรื่องผักสดแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าน้ำมันอีก โดยในแต่ละวันจะวิ่งรถ 70-80 กก. เติมน้ำมันวันละ 300-350 บาท โดยจะวิ่งขายอยู่ในกรุงเทพฯ ไปตามย่านบางบัว เรือนจำคลองเปรม และตลาดประชานิเวศน์ แต่หลัก ๆ แล้วจะวิ่งส่งตามร้านอาหารทั่วไป ประมาณวันละ 20-25 ร้าน ซึ่งเป็นเจ้าประจำกัน

การขายผักสดแบบขายส่งจะส่งทุกอย่าง ทั้งที่ร้าน อาหารตามสั่ง ร้านข้าวแกง ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านส้มตำ สวนอาหาร ซึ่งของที่ร้านเหล่านี้ต้องใช้ อาทิ ผักคะน้า กวางตุ้ง ผักกาดขาว กะหล่ำปลี มะเขือเทศ มะเขือสีดา มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว ฟักทอง หอมใหญ่ ต้นหอม ผักชี ข้าวโพด แตงล้าน แตงกวา พริกขี้หนูแห้ง หัวไชเท้า มะระ มะละกอ ผักกาดหอม ผักกะเฉด ผักบุ้งจีน ผักบุ้งไทย มะละกอดิบ กระเทียม มะนาว ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หน่อไม้ ฯลฯ ซึ่งผักดังกล่าวนี้จะต้องเป็นของสด ใหม่ และต้องขายให้หมดทุกวัน

“ทุกเช้ามืดของทุกวันจะไปซื้อผักสดที่ตลาดสี่มุมเมือง แต่ถ้าช่วงไหนที่ผักราคาแพงเพราะมีของน้อยต้องไปซื้อเตรียมไว้ตั้งแต่ตอนกลางคืน เพราะตอนเช้าจะยิ่งแพงมากหรือหมด ถ้าช่วงไหนที่ผักราคาถูก มีเยอะ ก็ไปซื้อตอนเช้ามืดได้ตามปกติ” ...เป็นอีกเคล็ดลับสำหรับอาชีพนี้

ทนงชัยบอกอีกว่า การซื้อผักจากแหล่งที่มีชาวสวนนำมาขายเองเลย ไม่ต้องไปซื้อต่อจากยี่ปั๊วขายผักอีกที จะเหมาะกับการนำไปขายส่ง แต่ก็มีบางคนที่ซื้อจากยี่ปั๊วแล้วนำไปเร่ขายรายย่อยทั่วไป ก็จะต้องขายในราคาสูงขึ้นหน่อย แต่ส่วนใหญ่คนที่ซื้อก็ไม่ค่อยซีเรียสมาก เพราะเป็นการซื้อไปทำกับข้าวกินเอง ไม่ใช่ค้าขายที่ต้องห่วงเรื่องทุน

อย่างไรก็ตาม ตนเองขายส่งตามร้านอาหาร ต้องขายในราคาถูก แต่ก็อาศัยว่าขายได้จำนวนมาก ไม่ต้องไปเร่ขายปลีกที่จะต้องใช้เวลามากกว่า

เมื่อซื้อผักมาแล้ว ก็จะมาจัดผักตามออร์เดอร์ของร้านค้าที่สั่งไว้ ประมาณ 10.00 น. ก็เรียบร้อย จากนั้นก็จะตระเวนส่งตามร้านเจ้าประจำ ส่วนที่เหลือก็จะตระเวนขายตามย่านชุมชน เช่นย่านบางบัว หรือเรือนจำคลองเปรม ซึ่งจะมีแม่ค้าที่ทำอาหารส่งในเรือนจำเป็นลูกค้า ผักบางส่วนจะแบ่งใส่ถุงขายถุงละ 10 บาท ขายตามเส้นทางที่ขับรถผ่าน ขายลูกค้าขาจร อย่างช่วงเย็นจะขับไปขายที่ตลาดประชานิเวศน์ ขายพวกข่า ใบมะกรูด ข้าวโพด พริกหนุ่ม พริกขี้หนูแห้ง หอมแดง หอมแขก หัวไชเท้า ผักกาดขาว มะนาว ผักกะเฉด ฟัก กะเพรา โหระพา ฯลฯ

“หลักการตั้งราคา ถ้าขายผักในราคาส่ง จะตั้งกำไรประมาณ 5-10 บาทต่อ กก. ไม่เกินนี้ และบางช่วงถ้าผักชนิดไหนราคาแพงมากก็อาจจะยอมขายเท่าทุน แต่จะไปบวกกำไรกับสินค้าอย่างอื่นมาถัวกัน”

ทนงชัยยังบอกถึงหลักการหาลูกค้าด้วยว่า ตอนแรกต้องซื้อของมาขายไม่มากก่อน จากนั้นก็ตระเวนหาลูกค้าไปเรื่อย ๆ ต้องเข้าไปแนะนำตัวเอง บอกราคาผักในราคาส่ง เมื่อลูกค้ารับแล้วก็ค่อย ๆ รับผักมาส่งตามออร์เดอร์

“และต้องรับผิดชอบลูกค้าด้วยการส่งของตรงเวลา ขายผักในราคายุติธรรม และขายของดี เพื่อให้ลูกค้าไว้ใจเป็นลูกค้ากันตลอดไป” ...พ่อค้าขายผักแบบส่งถึงที่หรือ “เดลิเวอรี่” กล่าว

ใครสนใจจะเป็นลูกค้ารับซื้อผักแบบขายส่งจากทนงชัย ก็ติดต่อได้ที่ โทร.08-9290-2231 ส่วนใครที่ยังไม่มีอาชีพ กับ “ผักสดเดลิเวอรี่” อาชีพนี้ขายได้ทั้งแบบขายปลีก ขายส่ง หรือทั้งสองแบบควบคู่กัน เป็นอาชีพอิสระ ไม่มีเจ้านาย เพียงแต่ต้องมีความรับผิดชอบต่อลูกค้า ซึ่งผู้ที่ยึดอาชีพนี้ส่วนใหญ่ต่างก็รายได้ดีกันทั้งนั้น

ฝากไว้ให้พิจารณากันอีกหนึ่งอาชีพ!

ให้บริการและขายโลงศพสุนัข



ให้บริการและขายโลงศพสุนัข

ด้วยความที่มีจิตใจรักสุนัขเป็นพื้นฐาน กอปรกับตั้งใจไว้ว่าจะทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุนัขให้ครบวงจร จึงเป็นเหตุให้ “อนุพันธ์ บุญชื่น” คิดอะไรที่ไม่ค่อยซ้ำแบบใคร…เป็นผลให้บังเกิดไอเดียเก๋ไก๋ในอาชีพ “ให้บริการและขายโลงศพสุนัข”

งานให้บริการและขายโลงศพสุนัข เป็นอาชีพใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นสด ๆ ซิง ๆ เมื่อประมาณต้นปี 2549 นี้เอง โดย “อนุพันธ์” เฉลยถึงที่มาอันเป็นจุดเริ่มต้นทำให้มาจับงานด้านนี้ว่า เกิดจากการที่ได้รับรู้ปัญหาของลูกค้าที่สูญเสียสุนัขเพราะอุบัติเหตุรถชน

แต่ไม่ได้รับการดูแลบรรจุศพสุนัขในโลงให้สมกับเป็นสุนัขแสนรู้ที่เจ้าของรักนักรักหนา ซึ่งในหัวอกคนรักสุนัขด้วยแล้ว คงไม่อาจยอมรับได้ที่น้องหมาผู้ซื่อสัตย์กับเจ้าของมาตลอดชีวิต แต่เมื่อถึงคราวต้องจากไปจะได้รับการปฏิบัติเพียงแค่บรรจุศพในถุงดำ ก็คงไม่ยุติธรรมเท่าไหร่

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดความคิดเปิดให้บริการดูแลและขายโลงศพสุนัขหลังการตาย ซึ่งถือเป็นอาชีพที่ทำแล้วมีความสุข สบายใจ ขณะเดียวกันก็มีรายได้เข้ามาอย่างเป็นกอบเป็นกำเนื่องจากตลาดยังไม่มีใครเคยทำ ขณะนี้ได้เปิดเว็บไซต์ยี่ห้อโลงศพ “หลับสบาย” ให้กับผู้ที่มีใจ รักสุนัขแต่มีเหตุให้ต้องสูญเสีย สามารถเข้ามาติดต่อสอบถามราคาและบริการได้

ทั้งนี้ขนาดของโลงศพที่จัดทำจำหน่ายมี 3 ขนาดด้วยกันได้แก่
ขนาดเล็กมีราคา 2,000 บาท สำหรับให้บริการลูกสุนัขขนาดเล็กพันธุ์พูเดิ้ล ชิทสุ
ขนาดกลางเหมาะกับสุนัขพันธุ์เทอร์เรีย บางแก้ว
และขนาดใหญ่ พันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ เยอรมัน เชฟเพิร์ด และพันธุ์ลาบารดอร์ เป็นต้น

“เรายังไม่รู้ว่าตลาดสุนัขจะตอบรับ ไอเดียนี้อย่างไร แต่ก็ถือเป็นการเอาใจลูกค้าในกลุ่มที่รักสุนัขเป็นชีวิตจิตใจ เวลานี้มีลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาเฉลี่ยเดือนหนึ่งประมาณ 10 ราย ซึ่งลวดลายที่เราออกแบบในโลงศพจะแตกต่างจากโลงศพของคน โลงศพสุนัขเราจะเน้นความน่ารัก เช่น รอยเท้าสุนัข กระดูก เป็นต้น เพื่อไม่ให้ถูกมองว่ามีลักษณะคล้ายโลงศพคนอาจเข้าข่ายลบหลู่ได้”

เจ้าของไอเดียเก๋ขายโลงศพสุนัข พูดพลางอมยิ้มด้วยความปลื้มใจ ก่อนจะสาธยายต่อว่า
งานที่เราทำไม่ได้มีแค่ขายโลงศพอย่างเดียวแต่ยังมีบริการบรรจุศพสุนัขด้วย..ทันที ที่ลูกค้าติดต่อเข้ามาจะมีรถบริการนำโลงไปรับศพสุนัขถึงบ้านในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เมื่อไป ถึงแล้วเจ้าหน้าที่จะนำศพสุนัขบรรจุในห่อผ้าดิบ นำใส่โลงพร้อมกับปิดฝาโลงให้สนิทรวมไปถึงการประสานเรื่องทำพิธีกรรมงานศพไปที่วัดคลองเตยใน ซึ่งเปิดบริการรับสวดและเผาศพสุนัข ตลอดจนการลอยอังคารด้วย


นอกจากนี้บริการที่เปิดให้กับลูกค้ายังมีเรื่องของการสลักชื่อ ประวัติสุนัขที่โลงศพและลงเว็บไซต์ให้ด้วยเพื่อสดุดีวีรกรรมความกล้าหาญและความซื่อสัตย์ของสุนัขตัวนั้น ๆ เพื่อที่ว่ายามที่เจ้าของเกิดความคิดถึงก็สามารถเข้าไปคลิกดูข้อมูลได้
“ผมคิดว่าขณะนี้ทิศทางตลาดสุนัข ในปี 2549 กำลังมาแรง คนรุ่นใหม่นิยมมาเรียนและทำธุรกิจเกี่ยวกับสุนัขกันมาก จนกลายเป็นแฟชั่น ไม่ต่างจากการเรียนภาษาอังกฤษและคอมพิวเตอร์ อาจจะเป็นเพราะว่าในปัจจุบัน ความผูกพันระหว่างสุนัขกับคนไทย ได้แปรเปลี่ยนจากเดิม ที่ผู้คนมักจะเลี้ยงสุนัขเป็นเพียงแค่สัตว์เลี้ยง ไม่ได้มีอะไรที่เทียบเท่ากับคน แต่วิวัฒนาการที่เปลี่ยนทำให้คนให้ความรัก ความสำคัญกับสุนัข ประหนึ่งลูกในไส้ ทำให้ธุกิจเกี่ยวกับสุนัขบูมไปด้วย ผมเชื่อว่าธุรกิจนี้จะยั่งยืนเพราะอายุของสุนัขจะมีช่วงอายุไปจนถึง 12 ปี”

เรากำลังมองหาพาร์ตเนอร์ เพื่อเป็นเครือข่ายทางธุรกิจจำหน่ายโลงศพสุนัขใน 76 จังหวัด ซึ่งเล็งไปที่กลุ่มตัวแทนหรือร้านค้าที่เปิดขายโลงศพอยู่แล้ว ซึ่งร้านค้าเหล่านี้จะมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนและมีต้นทุนการผลิตโลงศพในราคาที่ถูก ซึ่งสั่งทำโลงศพครั้งละมาก ๆ ก็จะได้ราคาที่ถูกลง ไม่แน่ถ้าเราสามารถเชื่อม ต่อกันได้ ต่อไปโลงศพสุนัขน่าจะมีราคาไม่เกิน 500 บาท

กิ๊ฟท์ช็อป ตลาดนัด



กิ๊ฟท์ช็อป ตลาดนัด แหล่งทำเงิน

“ตลาดนัด” ที่มีตามย่านต่างๆ นั้น แม้ว่าจะดูธรรมดา แต่ก็เป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับผู้ค้าขายมากต่อมาก รวมถึงผู้ที่ค้าขายสินค้าประเภทเครื่องประดับสตรี หรือที่เรียกกันว่าร้าน “กิ๊ฟท์ช็อป” ซึ่งวันนี้ “ช่องทางทำกิน” มีหลักปฏิบัติของผู้ค้ารายหนึ่งมาเล่าสู่ให้ลองพิจารณากัน....

ปีติภัทร ปัญญาสุขศิริ เปิดร้านกิ๊ฟท์ช็อปตามตลาดนัดต่าง ๆ มานานแล้ว ซึ่งเจ้าตัวก็บอกว่าเป็นอาชีพอิสระ สนุก และรายได้ดี ซึ่งการขายของประเภทนี้ตามตลาดนัดเบื้องต้นลงทุนประมาณ 3,000 บาทก็อยู่ ส่วนทุนหมุนเวียนต่อวันก็ประมาณ 1,000-1,500 บาท หรือมากหรือน้อยกว่า ขึ้นอยู่กับทำเลขาย ลงทุนซื้อของที่จะขาย เช่น สร้อยคอ สร้อยข้อมือ กำไล ต่างหู ตัวหนีบ กิ๊ฟท์ติดผม ฯลฯ

โดยแหล่งขายส่งราคาถูกอยู่ในกรุงเทพฯ คือที่ “ตลาดสำเพ็ง” ซึ่งเป็นแหล่งสินค้าหลากหลายตามแฟชั่น ราคาขายส่ง

การขายตามตลาดนัดก็ต้องมีอุปกรณ์ที่สะดวกทั้งในการขน การใช้ และการเก็บ เช่น ขาตั้งโต๊ะ โต๊ะ ร่ม แผงแขวนต่างหู ตะขอแขวนสร้อยต่างๆ ซึ่งก็เป็นอุปกรณ์ที่ราคาไม่แพงมาก ลงทุนก็ประมาณ 2,000 บาท

ตลาดนัดที่เป็นแหล่งขายนั้น ถ้าเป็นย่านสำนักงานก็แบ่งออกได้เป็น 3 แบบคือ ตลาดนัดช่วงเช้า ก่อนเวลาทำงานของพนักงาน, ตลาดนัดช่วงกลางวัน ช่วงเวลาทานอาหาร และตลาดนัดช่วงเย็น หลังเวลาเลิกงาน

คิดจะยึดอาชีพแบบนี้ก่อนอื่นก็จะต้องสำรวจก่อนว่ามีตลาดนัดที่ไหนบ้าง แต่ละที่มีช่วงเวลาขายอย่างไร ค่าเช่าที่เท่าไหร่ ต้องจับสลากล็อกขายด้วยหรือเปล่า ฯลฯ เมื่อได้ข้อมูลตรงนี้ และพร้อมแล้ว ก็ลุยได้

“ในวันหนึ่งๆ ควรจะต้องขายให้ได้ประมาณ 2 แห่งเป็นอย่างต่ำ และอย่าขายที่เดียวกันทุกวัน เพราะลูกค้าจะไม่ซื้อ เพราะคิดว่าพรุ่งนี้ก็มาขายอีก ซึ่งทำเลที่ตั้งของตลาดก็เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะเป็นตัวกำหนดว่าเราจะจัดหน้าร้านแบบไหน ตั้งราคาเท่าไร คุยกับลูกค้ายังไง”

เมื่อทราบแล้วว่าจะขายของที่ไหน ก็มาดูเรื่องการเลือกซื้อสินค้ามาลงร้าน อาจจะเลือกให้แตกต่างจากเจ้าอื่น เลือกซื้อสินค้าที่ตนเองชอบเป็นเกณฑ์ เลือกที่แบบ-ลวดลายที่คิดว่าสวย หรือสวยกว่าร้านอื่น แต่ละอย่างอาจจะวางขายเพียง 3-5 ชิ้นพอ เพื่อไม่ให้สินค้าดูเกร่อ หรือดูมากจนไม่มีราคา และการจัดหน้าร้านก็ควรจะจัดให้มี “ศิลปะ” ด้วย จัดให้หน้าร้านน่ามอง น่าแวะดูของ เรียงของให้เป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม อยากจะขายอะไรมากเป็นพิเศษก็ควรจะนำเสนอแบบนั้นไป

และช่วงนี้ “ดอกไม้” อย่างทานตะวัน หรือลีลาวดีมาแรงมาก ก็ไปรับดอกไม้มายกโหล ซึ่งจะได้ในราคาถูก และนำมาติดกับที่คาดผม ยางรัดผม กิ๊ฟท์ติดผม ตัวหนีบผม เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าของเรา

สำหรับการตั้งราคานั้น ให้ตั้งราคาของบวกเข้าไปอีกมากกว่า 50% ของราคาทุนได้เลย เพราะกำไรที่ได้จะต้องหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อีก อาทิ ค่ารถ ค่ากิน ค่าเช่าที่ ซึ่งต้องคำนวณให้เหลือคุ้มเหนื่อย อย่างไรก็ตาม นอกจากการตั้งราคาที่มากกว่าครึ่งของทุนเป็นเกณฑ์แล้ว ก็จำเป็นต้องดูตลาดด้วย หากทำเลแถบนั้นเป็นย่านหรูก็ตั้งราคาได้ดีหน่อย แต่ก็จะต้องมีสินค้าที่ราคาหลากหลาย เพื่อที่จะให้ลูกค้าได้เปรียบเทียบคุณภาพได้

ส่วนถ้าเป็นย่านที่หรูน้อยหน่อยก็ตั้งราคาให้ต่ำลงมาหน่อย นอกเหนือไปจากนี้ การทำอาชีพนี้ต้องหมั่นไปสำรวจตลาดนัดอื่น-เจ้าอื่นด้วยว่าเขาขายในราคาเท่าไหร่ หรืออาจจะถามจากเจ้าของร้านที่เราไปรับสินค้ามา ว่าสินค้าแบบนี้ถ้านำไปขายปลีกแล้วควรจะขายเท่าไหร่ เพื่อจะได้เป็นเกณฑ์ในการตั้งราคาได้เหมาะสม

“การลงทุนทำกิ๊ฟท์ช็อปตามตลาดนัด ก็ทำได้ทั้งแบบลงทุนมากนับหมื่น เพื่อที่จะมีสินค้าทุกอย่าง ขายเป็นจำนวนมาก แต่ต้องมั่นใจว่าทำเลดี และมีลูกค้ามากพอ หรืออาจจะลงทุนแค่ไม่มาก มีของพอประมาณ แต่สามารถเปลี่ยนของได้บ่อย ๆ เพื่อความหลากหลาย”

ว่างจากการขาย ก็ควรแวะไปสำรวจแหล่งค้าส่งสินค้าบ่อย ๆ ด้วย เพื่อเป็นการอัพเดต ดูว่าอะไรอิน อะไรเอาท์ หรือช่วงนี้สินค้าอะไรขายดี อย่างสำเพ็งที่เป็นศูนย์รวม-แหล่งแฟชั่นอีกที่หนึ่งก็ไปดูเทรนด์ได้ ซึ่งที่มาของแฟชั่นสำเพ็งก็คือนิตยสารจากต่างประเทศ และดารานางแบบที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ จากข้อมูลต่าง ๆ ดังที่กล่าวข้างต้น ถือเป็นหลักการเบื้องต้นคร่าว ๆ ในการค้าขายตามตลาดนัด

ในทางปฏิบัติก็ยังต้องขึ้นอยู่กับว่าไหวพริบปฏิภาณ หรือวิญญาณพ่อค้าแม่ขาย และที่ไม่ควรมองข้ามก็คือเรื่องการสร้างความเป็นมิตรระหว่างผู้ค้าด้วยกันเองในตลาด ก็จะได้อะไรต่อมิอะไรที่มีประโยชน์ต่อการค้าขายของเราไม่น้อย

ให้ข้อมูลต่าง ๆ จากประสบการณ์แล้ว ปีติภัทร ผู้ชำนาญการเรื่อง “กิ๊ฟท์ช็อป” ยังย้ำด้วยว่า “สิ่งที่สำคัญของการค้าขายตามตลาดนัดให้เจริญรุ่งเรือง ไม่ว่าจะเป็นร้านกิ๊ฟท์ชอป หรือร้านขายอะไรก็ตาม จะต้องเป็นคนขยัน เอาใจลูกค้า และต้องรักษาสุขภาพให้แข็งแรงด้วย” “ตลาดนัด” อย่าได้คิดว่ากระจอก ถือว่าเป็น “แหล่งทำเงิน” ทีดีเชียวแหละ !!



สุภารัตน์ ยอดศิริวิชัยกุล :รายงาน / จเร รัตนราตรี :ภาพ


คู่มือลงทุน...กิ๊ฟท์ช็อปตลาดนัด ทุนอุปกรณ์ ประมาณ 2,000 บาท ทุนหมุนเวียน 1,000-1,5000 บาท
รายได้ ขึ้นอยู่กับยอดขาย แรงงาน 1 คนขึ้นไป ตลาด จุดเปิดตลาดนัดต่างๆ จุดน่าสนใจ ลงทุนไม่สูงมากก็ขายได้

กังหันวิดน้ำ งานทำเงิน



กังหันวิดน้ำ งานทำเงิน

ประกอบอาชีพอะไรอยู่แล้วเกิดปัญหา ก็ไม่ได้หมายความว่าจะประกอบสัมมาอาชีพ อื่น ๆ ต่อไปไม่ได้ หลายคนเหลียวมองสิ่งรอบตัวแล้วก็เกิดไอเดีย-เกิดอาชีพทดแทนใหม่ ๆ ขึ้นมา... ดังเช่น “บุญลือ สืบจากสี” กับสินค้า “กังหันวิดน้ำ” ทำจาก “ไม้ไผ่” ที่ทีมงาน “ช่องทางทำกิน” จะนำเสนอในวันนี้...

เจ้าของไอเดียงานประดิษฐ์ "กังหันวิดน้ำไม้ไผ่" เล่าว่า เดิมทีมีอาชีพเปิดแผงขายผลไม้ให้กับนักท่องเที่ยวอยู่หน้าแหล่งท่องเที่ยววังตะไคร้ จ.นครนายก แต่พอเกิดเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากจนสถานที่ท่องเที่ยวปิดตัวลง ระหว่างนั้นก็คิดว่าน่าจะหาอะไรทำเพื่อเป็นอาชีพทดแทนไปก่อน

พอดีเห็นกังหันวิดน้ำอันมหึมาที่ตั้งอยู่หน้าวังตะไคร้ แล้วเกิดไอเดีย คิดว่าน่าจะลองนำมาจำลองทำเป็น "ของที่ระลึก" ขายนักท่องเที่ยว

"ทดลองทำขาย 10 ตัวช่วงวันเด็ก ปรากฏว่าขายหมด ทำเพิ่มอีกก็ขายหมดอีก จึงคิดว่าน่าจะพอเป็นช่องทางสร้างรายได้ที่ดี ก็เลยทำจริงจังในจำนวนที่มากขึ้น และพยายามปรับปรุงรูปแบบใหม่ ๆ ออกมา"

ต่อมาก็มีการรวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มขึ้นมา โดยอาศัยเครือญาติคนในครอบครัวเป็นแรงงานภาคผลิต แบ่งหน้าที่กันทำ เพราะสินค้าเริ่มมียอดสั่งซื้อเข้ามามากจนไม่สามารถทำคนเดียวไหว มีลูกค้าสั่งทำและสั่งซื้อจากทั่วประเทศ เรียกว่าจากเหนือจดใต้เลยทีเดียว กังหันวิดน้ำที่ทำนั้น มีอยู่ราว ๆ 30 กว่าแบบ แต่จะเพิ่มแบบมากขึ้นไปเรื่อย ๆ เพราะลูกค้าอาจเบื่อรูปแบบเก่า ๆ และอีกส่วนก็เพราะมีคนลอกเลียนแบบงาน จึงจำเป็นต้องคิดแบบใหม่ ๆ เพื่อหนีกลุ่มที่ชอบก๊อบปี้

"งานของเราไม่ได้จดลิขสิทธิ์ไว้ แต่จุดแข็งของเราคืองานมีความทนทานสูง เนื่องจากวัตถุดิบไม้ไผ่จากแหล่งนครนายกเป็นไม้ไผ่ที่ไม่แตกง่าย" ราคาขายนั้น บุญลือบอกว่า ขึ้นอยู่กับแบบและขนาดของกังหัน

จะมีตั้งแต่ขนาดเล็กสุดคือ 28 เซนติเมตร ไปจนถึงขนาดบิ๊กเบิ้มหรือขนาดใหญ่ 3 เมตร โดยราคาขายส่งเริ่มต้นตั้งแต่ชุดละ 150 บาทจนถึง 4,500 บาท

ส่วนต้นทุนถ้าเป็นขนาดเล็กสุดเฉลี่ยแล้วก็ประมาณ 80-100 บาท

สำหรับอุปกรณ์ในการทำ ที่ต้องใช้ ที่จำเป็นและช่วยทำให้งานรวดเร็วขึ้นก็มีอาทิ
เครื่องตัดไม้ ราคาประมาณ 10,000 บาทขึ้นไป, สว่านแท่น ราคาประมาณ 4,000 บาท, เครื่องเจียรมือไฟฟ้า ราคาประมาณ 2,000 บาท และ สว่านมือ ราคาประมาณ 1,000 บาท


ส่วนวัตถุดิบที่ต้องใช้ หลัก ๆ ก็คือ ไม้ไผ่เลี้ยงหรือไผ่ตง (ลำเล็กตกลำละ 30 บาท ลำใหญ่ลำละ 250 บาท)
นอกจากนี้ก็ต้องมีไม้เนื้ออ่อน, กาวร้อน, ลวดชนิดแข็ง (สำหรับทำแกนใบพัดกังหัน), เทปพันสายไฟ, ขี้เลื่อย, ไม้เสียบลูกชิ้น, สายยาง (สำหรับสูบน้ำเข้ากังหัน) และน้ำยายูริเทน ทุนเบื้องต้นบุญลือบอกว่า น่าจะอยู่ที่ประมาณ 25,000 บาทขึ้นไป ซึ่งอาจถูกลงกว่านี้หากเริ่มทำไม่มาก และตัดอุปกรณ์บางส่วนออก


โดยงานประเภทนี้ "แรงงานคน-ฝีมือ-ไอเดีย" เป็นสิ่งสำคัญ ทำได้ชำนาญก็สามารถจะผลิตได้สัปดาห์ละประมาณ 20 ชุด แต่ถ้าเพิ่มอุปกรณ์ทุ่นแรงเข้ามาก็สามารถผลิตได้เป็นหลักร้อย

ขั้นตอนการทำ...

เริ่มจากนำไม้ไผ่มาตัดแบ่งตามขนาดที่ต้องการ โดยขูดผิวให้ผิวสีเขียวให้เหลือแต่ผิวสีเหลืองอย่างเดียว
สำหรับส่วนต่าง ๆ ของกังหันนั้นแบ่งออกเป็น
- ไม้สำหรับยึดตัวแกนกังหันไว้ตรงกลางทั้ง 2 ข้าง
- ไม้สำหรับใช้ทำฐานวางกังหัน ตัวแกนกังหัน ใบพัด และตุ๊กตาวิดน้ำ

ตุ๊กตาวิดน้ำจะใช้ไม้ไผ่และไม้เนื้ออ่อนประกอบกัน กล่าวคือในส่วนลำตัวจะใช้ไม้ไผ่

ขณะที่ส่วนหน้าตาของตุ๊กตาหรือหมวกจะใช้ไม้เนื้ออ่อน ตัดตามรูปทรงที่ต้องการ แล้วนำมาประกบกันด้วยกาวหรือตะปู

ส่วนแกนกังหันให้นำลวดแข็งมาสอดจนทะลุจากปลายด้านหนึ่งถึงอีกด้านหนึ่ง

จากนั้นนำไม้ไผ่ที่ตัดแล้วมาวัดหาเส้นรอบวงเพื่อคำนวณระยะห่าง สำหรับเจาะรูเพื่อใส่แกนของใบพัด ซึ่งใช้สูตรง่าย ๆ คือ... "ความยาวของแกนกังหันมีขนาดเท่าไหร่ก็ให้เอา 8 หาร ได้เท่าไหร่ก็คือระยะห่างระหว่างรูที่เจาะสำหรับใส่แกนใบพัดของกังหัน"

เมื่อได้ส่วนประกอบต่าง ๆ แล้วก็ให้นำมาประกอบกันขึ้นเป็นตัวกังหัน โดยการประกอบก็ใช้กาวร้อนและตะปูยึดติดในส่วนต่าง ๆ ซึ่งเป็นวิธีแบบง่าย ๆ

"หากเป็นงานไม่ละเอียดมากส่วนใหญ่ก็จะใช้กาวและตะปูเป็นตัวยึด แต่สำหรับงานที่ต้องการความละเอียดหรือเป็นงานที่ลูกค้าระบุมาว่าไม่ต้องการให้มีโลหะ ก็จะใช้วิธีการตอกลิ่มแทน"


เมื่อประกอบเป็นกังหันเสร็จ ก็นำมาเคลือบน้ำมันยูริเทนเพื่อรักษาเนื้อไม้ ตั้งทิ้งไว้ให้แห้งก็เป็นอันเสร็จ

ถ้าต้องการให้กังหันวิดน้ำต่อเนื่องเร็วขึ้น หรือไม่ต้องการให้สิ้นเปลืองน้ำ ก็แนะนำว่าให้ใช้ที่ดูดน้ำวน สำหรับใส่ตู้ปลาติดตั้งเพิ่มเข้าไป โดยราคาอุปกรณ์ที่ว่านี้ไม่น่าจะเกิน 100 บาท หาซื้อได้ตามร้านขายปลาตู้ "

และหากต้องการให้กังหันปลอดจากมอดหรือปลวก ก็ให้ทาน้ำยาเคลือบป้องกันปลวกก่อนที่จะเคลือบยูริเทน แต่ต้องแนะนำกับลูกค้าด้วยว่าซื้อไปแล้วหากจะนำไปใส่ในอ่างน้ำที่เลี้ยงปลา ควรตั้งทิ้งไว้ระยะหนึ่งก่อน มิฉะนั้นอาจเป็นอันตรายกับปลาได้" ...เป็นเคล็ดลับที่บุญลือฝากทิ้งท้าย



ใครที่สนใจ "กังหันวิดน้ำ" แบบย่อส่วน ทำจากไม้ไผ่ ต้องการติดต่อกับบุญลือ ก็ติดต่อไปได้ที่ 42/3 หมู่ 9 ต.หินตั้ง อ.เมือง จ.นคร นายก โทร.0-1374-5470, 0-9532-8725 หรือ 0-3738-4030

นอกจากจำหน่ายที่กลุ่มและจำหน่ายแบบส่งเป็นพัสดุแล้ว สำหรับคนที่สนใจอยากฝึกฝนการทำ บุญลือบอกว่า...ไม่หวงวิชา แต่ต้องลองไปพูดคุยกันก่อน ถูกชะตา-คุยกันถูกคอ...ก็ยินดีจะสอนให้ !!.

Thai Go ฟาสต์ฟู้ด อาหารไทย



Thai Go ฟาสต์ฟู้ด อาหารไทย...ในอเมริกา

ตามนโยบาย "ครัวไทยสู่ครัวโลก" ในส่วนของการสร้างโอกาสในการขยายตลาดนั้น ในรูปของร้านอาหารไทยในต่างแดน ที่ภาคเอกชนดำเนินการอยู่ในขณะนี้ มีด้วยกัน 2 แนวทาง คือ นักธุรกิจในประเทศไทย สร้าง แบรนด์ และพัฒนาจนเป็นโมเดลธุรกิจร้านอาหารไทย ที่เข้มแข็ง และขายแฟรนไชส์ไปต่างประเทศ

และอีกแนวทางหนึ่งก็คือ ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยที่อยู่ต่างแดน มีศักยภาพและเห็นโอกาส ในการที่รัฐบาลให้การส่งเสริมและสนับสนุน จึงใช้โอกาสนี้เพื่อการต่อยอดธุรกิจ โดยใช้พื้นฐานและศักยภาพของตัวเองที่ชำนาญพื้นที่ รู้จักตลาด รู้ช่องทางเป็นทุน ต่อยอดธุรกิจ

"Thai Go" คือต้นแบบในแนวทางที่ 2 ที่ถูกพัฒนาและสร้างขึ้นโดยคนไทยที่เข้าไปตั้งหลักปักฐานที่อเมริกามานาน และมองเห็นลู่ทางในการทำธุรกิจร้านอาหารไทยในรูปแบบฟาสต์ฟู้ด

ปัญญา ทิพยโสติถิ ประธานกรรมการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและแฟรนไชส์ บริษัท ไทยฟู้ด อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ กล่าวว่า ผมต้องการสร้าง "Thai Go" ให้เป็นฟาสต์ฟู้ดร้านอาหารไทย กระจายไปทั่วประเทศอเมริกา ซึ่งมองว่ามีโอกาสทางการตลาดสูงมาก ซึ่งปัจจุบันทางบริษัทได้มีการลงทุนทำมา 2-3 ปีแล้ว ปัจจุบันมีอยู่ 9 สาขา และสามารถทำรายได้และกำไรเป็นที่น่าพอใจ จึงอยากที่จะฉกฉวยโอกาสนี้ขยายสาขาในรูปแบบของแฟรนไชส์

เพราะที่อเมริกา แฟรนไชส์ร้านอาหารไทยในรูปแบบฟาสต์ฟู้ดยังไม่มีใครทำ ถ้าเริ่มก่อน โอกาสก็มาถึงเราก่อน

"ในอเมริกา ร้านอาหารไทยส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบร้านมีที่นั่งตกแต่งในสไตล์ที่หรูหรา ซึ่งก็เป็นโอกาสที่ดีช่องทางหนึ่ง แต่ในรูปแบบของฟาสต์ฟู้ด ก็จะเป็นโอกาสที่ดีอีกช่องทางหนึ่งอีกเช่นกัน เพราะเราจะไปตั้งอยู่ในฟู้ดคอร์ตต่างๆ"

ซึ่งรูปลักษณ์จะเป็นเคาน์เตอร์ มีพื้นที่สำหรับทำครัวอยู่ด้านหลัง รูปแบบคล้ายๆ กับฟู้ดคอร์ตในบ้านเรา จะต่างก็ตรงที่ร้านใกล้เคียงเป็นร้านที่ขายอาหารนานาชาติ อาทิ จีน อเมริกัน ฯลฯ เรียกได้ว่าค่อนข้างหลากหลาย โดยมี "Thai Go" เป็นหนึ่งในทางเลือก

เรื่องของเมนูจะมีถึง 2 ทางเลือกไว้คอยบริการ คือ 1.อาหารจานด่วน ก็คือ ข้าวราดแกง ซึ่งจะมีอาหารให้เลือกประมาณ 8-9 อย่าง/วัน อาทิ แกงไก่ ผัดพริกขิง ไก่ทอดกระเทียมพริกไทย

ผัดผักรวม ฯลฯ ราคาต่อจาน ถ้าเป็นกับข้าว 1 อย่าง 4.95 เหรียญ, 2 อย่าง 5.95 เหรียญ แต่ถ้า 3 อย่าง 6.50 เหรียญ

ส่วนรูปแบบที่ 2. เมนูตามสั่ง ราคาจะแพงหน่อยประมาณ 6.50 เหรียญ และต้องรอประมาณ 5-10 นาที

ซึ่งการเปิดให้บริการแบบนี้ ปัญญาอธิบายให้ฟังว่า ปัจจุบันเทรนด์การบริโภคของคนอเมริกันเริ่มเปลี่ยน คือนอกจากจะนิยมอาหารเพื่อสุขภาพแล้ว ยังชอบที่จะรับประทานอาหารที่ปรุงสดๆ จากเดิมที่นิยมอาหารแช่แข็งเข้าไมโครเวฟ

ซึ่งจากที่ทำมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา สำหรับอาหารไทยสไตล์ฟาสต์ฟู้ดมีการเติบโตที่ดี มียอดขายเฉลี่ยประมาณ 500,000-600,000 เหรียญ/ปี ถ้าอยู่ในโลเกชั่นที่ดีก็อาจทะลุ 800,000- 1,000,000 เหรียญ/ปี ตามยอดขายนี้หักต้นทุนทุกอย่างเหลือเป็นกำไรก่อนหักภาษีประมาณ 10-15%

การพัฒนาระบบฟาสต์ฟู้ดร้านอาหารไทยขึ้นมา เหมือนเป็นการเรียนลัดในด้านการลงทุนร้านอาหารไทย เพราะเรามีการย่อส่วนในการลงทุน ย่อส่วนในเรื่องของการบริหารจัดการ เรื่องบุคลากร เชฟ พนักงานเสิร์ฟ ฯลฯ ทุกส่วน

ถ้าเราลงทุนร้านอาหารไทยในรูปแบบเป็นร้าน จะยากเพราะความใหญ่ความครบถ้วนก็จะแบบหนึ่ง แต่ถ้าเป็นฟาสต์ฟู้ดอาหารไทย โมเดลธุรกิจที่มีระบบการบริหารจัดการที่พร้อมแล้ว ความยากก็จะลดลง รวมถึงเม็ดเงินในการลงทุนด้วย

ซึ่งสำหรับเงินลงทุนฟาสต์ฟู้ด "THAI GO" อยู่ที่ประมาณ 250,000 เหรียญ ! คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 10 ล้านบาท

แยกเป็นค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ ดังนี้ ค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ 30,000, ค่าออกแบบและใบอนุญาต 10,000, ค่าก่อสร้างปรับปรุงร้าน 100,000, ค่าวัสดุอุปกรณ์ในครัว 50,000, ค่าระบบคอมพิวเตอร์และเครื่องเก็บเงิน 15,000, ค่าสินค้าคงคลัง 5,000, ค่าฝึกอบรมและโฆษณาก่อนเปิด 15,000, ค่ามัดจำการเช่าร้าน 1 เดือน 15,000 และเงินสดสำรอง 15,000 รวมเป็นเงินที่ต้องใช้ในการเปิดร้าน 250,000 เหรียญสหรัฐ นอกจากนี้แฟรนไชซีต้องจ่ายรอยัลตี้ฟี 5% ของยอดขายทุกเดือน

ปัญญาบอกว่า จากประสบการณ์ของทีมงานที่คลุกคลีอยู่ในธุรกิจร้านอาหารไทยในอเมริกามานานเกือบ 20 ปี มองเห็นถึงโอกาสว่า อาหารไทยสามารถเติบโตได้อย่างดีในสหรัฐอเมริกา แต่ยอมรับว่า ทางบริษัทมีข้อจำกัดในเรื่องของเงินทุน จึงได้พัฒนาธุรกิจออกมาในรูปของแฟรนไชส์ เพื่อเปิดหาพันธมิตรที่มองเห็นโอกาสร่วมกัน

"ซึ่งไม่ได้จำกัดแต่นักลงทุนไทย แต่เปิดกว้างรองรับนักลงทุนชาวเอเชีย ยุโรป อเมริกา ที่สนใจอยากลงทุนอาหารไทยด้วย"

ปัญญาอธิบายต่อว่า และข้อดีสำหรับธุรกิจแฟรนไชส์นั้น ก็คือ การันตีความสำเร็จ !

ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะการทำธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศสหรัฐ อเมริกานั้น ต่างกับเมืองไทย เมืองไทยกฎหมาย กฎ กติกา อาจจะยังไม่เข้มงวด แต่ที่อเมริกา ทุกอย่างต้องพร้อมตรวจสอบได้ การจะทำระบบแฟรนไชส์ได้ต้องขออนุญาตก่อน ได้ใบอนุญาตถึงจะดำเนินการได้ ซึ่งกว่า "THAI GO" จะได้ใบอนุญาตก็ต้องผ่านการตรวจสอบในทุกๆ ด้านมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องระบบการบริหารจัดการ ความเป็นไปได้ของธุรกิจ เรื่องของการเงิน การบัญชี บุคลากร ฯลฯ ซึ่งถ้าไม่เฟิร์ม ไม่มีทางผ่าน

ฉะนั้นปัญหาที่จริงๆ เวลานี้ก็คือ ทุน !

"ที่ผ่านมา การทำธุรกิจร้านอาหารไทยร้านแรก ใช้เงินยืมจากพี่ เพื่อน ญาติ เงินลงทุนก้อนแรกประมาณ 50,000 เหรียญ จากร้านแรกก็ขยายร้านที่ 2 โดยใช้กำไรในการขยายธุรกิจ มีล้มลุกคลุกคลานบ้าง ใช้เงินหมุนจากบัตรเครดิตบ้าง เงินกู้จากสถาบันการเงินในอเมริกา แต่ก็ได้ไม่มาก....หลักใหญ่จึงเป็น เงินต่อเงิน และห้ามใช้เงินผิดประเภท เงินที่ขายอาหารได้ ต้องคิดอยู่เสมอว่า ไม่ใช่เงินของเราทั้งหมด

พอรัฐบาลไทยเปิดตัวพร้อมสนับสนุน ล่าสุด ก็เลยหันมากู้แบงก์ไทย ซึ่งล่าสุด เอสเอ็มอีแบงก์ได้อนุมัติให้กู้ประมาณ 14 ล้าน นั่นก็เพียงพอสำหรับการลงทุน ประมาณ 1 สาขา ขณะที่โอกาสในการขยายสาขายังมีมากกว่านี้

เพราะฉะนั้นสำหรับนักลงทุนที่สนใจ ลองศึกษารายละเอียดของธุรกิจนี้ "อย่าด่วนตัดสินใจ" ให้ศึกษารายละเอียดให้ดีก่อน และหากตัดสินใจแน่นอนแล้ว ตัดสินใจวันนี้ อีก 1 ปีหลังจากนั้น ถึงจะเห็นการลงทุนเป็นรูปเป็นร่างและเปิดขายได้ !

"โดยที่เรามั่นใจว่า THAI GO น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุนที่สนใจธุรกิจอาหารได้เป็นอย่างดี" เจ้าของแฟรนไชส์ THAI GO กล่าวพร้อมกับบอกว่า แต่ทั้งนี้ต้องบอกว่า ธุรกิจอาหารไทยเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่มีเงินอย่างเดียวไม่พอ ที่สำคัญเจ้าของเงินต้องรักในธุรกิจนี้ด้วย เพราะเป็นธุรกิจบริการ ที่ต้องอาศัยความอดทน และความเข้าใจ ในการหมั่นดูแลเอาใจใส่ เพื่อให้ได้สินค้าอาหารที่ดี มีรสชาติคงเส้นคงวา และมีรสชาติอร่อย และสุดท้ายเป็นอาชีพที่เหนื่อยและหนักพอสมควร !

พาย-ทาร์ส ชิ้นจิ๋ว ๆ กำไรแจ๋ว



‘พาย-ทาร์ส’ ชิ้นจิ๋ว ๆ กำไรแจ๋ว


ขนมอบอย่าง “พาย” และ “ทาร์ส” แม้ว่าจะเป็นขนมชิ้นเล็ก ๆ ที่ชื่อไม่คุ้นหูคนไทย แต่ก็คุ้นลิ้น มีผู้ให้ความสนใจซื้อหารับประทานกันมาก ใครที่มีฝีมือในการทำให้รสชาติอร่อยก็จะเป็นอีกอาชีพทำเงินได้ดี ทั้งในลักษณะอาชีพหลักหรืออาชีพเสริม วันนี้ทีมงาน “ช่องทางทำกิน” ก็มีเรื่องราวขนมอบประเภทนี้มานำเสนอกัน...

ขนิษฐา สวัสดิ์เวช หรือ คุณน้อง เคยทำงานเป็นพนักงานบริษัทเอกชนมา 8 ปี และช่วงปี 2540 ก็ได้ลาออกจากงานบริษัท เพื่อที่จะมาทำขนมขาย อาทิ ขนมปังกระเทียม ขนมเปี๊ยะ พาย ข้าวตัง เนื่องจากมีใจรัก และพอมีฝีมือ-มีพรสวรรค์ทางนี้อยู่ และก่อนจะทำขายจริงจังยังได้ไปเรียนกับคนรู้จัก ไปเรียนเพิ่มเติมก่อนด้วย

“ช่วงปี 2542-2543 ยอดสั่งขนมดีมาก ทำกันแทบไม่ทัน มีคนมารอรับขนมถึงหน้าบ้านเลย ไม่จำเป็นต้องไปหาที่ขายเลย ทำเท่าไรก็ไม่พอ อาจเป็นเพราะเศรษฐกิจช่วงนั้นค่อนข้างดีก็เป็นไปได้”

คุณน้องบอกต่อไปว่า พอปี 2544 เป็นต้นมายอดขายก็ลดลงไปมาก จนต้องให้คนงานที่จ้างมาช่วยออกจากงานถึง 10 คน เพราะมีคนหันมาทำขนมขายกันมากขึ้น และที่สำคัญช่วงนั้นทำอะไรก็มักจะโดนลอกเลียนแบบ จึงหยุดทำไปสักระยะหนึ่ง ประคองตัวให้รอดพ้นวิกฤติไปให้ได้ก่อน

ต่อมาก็มาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง เป็นการเริ่มต้นด้วยตนเอง โดยทำที่บ้าน เน้น “พายสับปะรด” และ “ทาร์สสับปะรด” เป็นหลัก ทำเป็นชิ้นเล็ก ๆ เน้นจับลูกค้ากลุ่มร้านกาแฟ โดยหาลูกค้าด้วยตนเอง ไม่นั่งรอให้คนมาสั่งที่บ้านเหมือนเดิม

ลองมาดูสูตรการทำพายที่เรียกว่า “พายเรือ” และ “พายดาว” ที่คุณน้องให้สูตรกัน.....

เริ่มต้นที่ “เนื้อแป้ง” ใช้แป้งสาลี 250 กรัม, น้ำตาลไอซ์ซิ่ง 50 กรัม, ผงฟู 1/2 ช้อนชา, เกลือ 1/2 ช้อนชา, เนยมาการีน 150 กรัม, น้ำเปล่า 1/2 ถ้วย และกลิ่นวานิลลา 1/2 ช้อนชา

วิธีทำ เริ่มที่ ร่อนแป้งสาลี, น้ำตาลไอซ์ซิ่ง 50 กรัม, ผงฟู 1/2 ช้อนชา และเกลือ ให้เข้าด้วยกัน จากนั้นใส่เนยมาการีน และน้ำเปล่าให้เข้ากันด้วย และใส่กลิ่นวานิลลาลงไป แล้วใช้มือนวดให้แป้งเข้าด้วยกัน จากนั้นนำแป้งที่ผสมดีแล้ววางลงบนโต๊ะ แล้วใช้ที่นวดแป้งรีดให้เป็นแผ่นใหญ่ ๆ บาง ๆ

“ตัดแป้งเป็นแผ่นขนาดสี่เหลี่ยมจัตุรัส ใช้ไม้บรรทัดฟุตเหล็กเป็นตัวหลัก ตัดเป็นแนวนอน และแนวตั้ง ถ้าเป็นพายเรือ ตัดเพียงแค่แผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่ถ้าเป็นพายดาว ให้ตัดด้านมุมของแผ่นแป้งเป็นรูปกากบาท เพื่อสะดวกเวลาที่จะพับออกมาเป็นรูปดาว”

วางไส้สับปะรดลงบนแป้งพายแล้วพับเป็นรูปดาว หรือรูปเรือก็ได้ ทาไข่แดงบนหน้าพายนิดหน่อย จากนั้นนำเข้าตู้อบ ใช้ความร้อนอบ 150 องศาฯ อบประมาณ 5 นาที เท่านี้ก็เรียบร้อย

“ไส้สับปะรดนั้น ให้ซื้อสำเร็จรูปจากโรงงาน ราคา กก. ละไม่เกิน 25 บาท”


ส่วน “ทาร์สสับปะรด” ใช้แป้งสาลี 400 กรัม, เกลือ 1/2 ช้อนชา, เนยสด 200 กรัม, ไข่แดง 2 ฟอง และกลิ่นวานิลลา 1/2 ช้อนชา

วิธีทำ ตีเกลือ เนยสด ไข่แดง และกลิ่นวานิลลาด้วยเครื่องให้เข้ากันก่อน จากนั้นเทแป้งสาลีลงไปผสม โดยใช้มือค่อย ๆ ผสมให้เข้ากัน

ค่อย ๆ จับแป้งขึ้นมาเป็นก้อน ๆ ปั้นเป็นก้อนกลม จากนั้นแบออกมาเป็นแผ่น ใส่ไส้สัปปะรด ลงไป แล้วใส่ลงไปบนพิมพ์ ซึ่งเป็นรูปต่าง ๆ อาทิ แอปเปิ้ล ฟักทอง

จากนั้น นำเข้าเตาอบ ใช้ความร้อน 150 องศาฯ อบประมาณ 5 นาที เท่านี้ก็เป็น อันเรียบร้อยแล้ว จัดใส่กล่องพลาสติกใสกลม ประมาณ 120 กรัม

สำหรับพาย 120 กรัม ต้นทุนประมาณ 13 บาท ขายส่ง 25 บาท ส่วนทาร์ส 120 กรัม ต้นทุนประมาณ 15 บาท ขายส่ง 25 บาท

ใครสนใจขนมอบ อย่าง “ทาร์ส” และ “พาย” ของคุณน้อง-ขนิษฐา สวัสดิ์เวช อยากจะสั่งไปจำหน่าย ก็ติดต่อได้ที่ โทร. 0-5047-4676 หรือใครจะลองนำสูตรไปฝึกทำขายดูบ้าง ก็ได้เลย!

ธุรกิจนวดแผนไทย



ธุรกิจนวดแผนไทย

อาการปวดเมื่อยร่างกาย โดยทั่วไปการรักษาอาการเหล่านี้นอกจากการพบแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว หลายคนก็ยังนิยมไปใช้บริการนวดเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด หรือผ่อนคลายร่างกายให้หายจากความเมื่อยล้าและความเครียด ซึ่งปัจจุบันมีผู้ที่มีความต้องการใช้บริการนวดมากขึ้น ความนิยมการนวดไม่จำกัดอยู่เฉพาะแค่ชาวไทย หากแต่ขยายตัวออกไปในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย ดังนั้น “ธุรกิจนวดแผนไทย” จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการ

การประกอบธุรกิจนี้จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ที่ต้องการประกอบธุรกิจของตนเอง แต่ก่อนที่จะเริ่มต้นลงมือทำ ผู้ประกอบการควรศึกษาและทำความเข้าใจในธุรกิจนี้ให้ลึกซึ้งเสียก่อน


ผู้ที่สนใจทำธุรกิจนวดแผนไทย ควรมีศักยภาพและคุณสมบัติพื้นฐานดังนี้
มีใจรักในการให้บริการ เพราะธุรกิจนี้เป็นธุรกิจการให้บริการ ผู้ประกอบการที่ดีควรมีใจรักในงานด้านนี้ มีความซื่อสัตย์ จริงใจ พูดจาไพเราะ และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี


มีศีลธรรมและสัมมาอาชีวะ การนวดเป็นการบริการแบบตัวต่อตัว โอกาสใกล้ชิดสัมผัสร่างกายลูกค้ามีอยู่ตลอดเวลา ผู้ประกอบการอาชีพนี้จึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเน้นความบริสุทธิ์ใจและศีลธรรมเป็นหลัก


มีพื้นฐานความรู้ด้านการนวดแผนไทย เพื่อให้เข้าใจธุรกิจนี้ ผู้ประกอบการควรผ่านการอบรมมาบ้างจากสถานที่อบรมที่มีมาตรฐานและได้รับการยอมรับ


มีทำเลที่เหมาะสม ทำเลที่ดีของธุรกิจนี้ควรอยู่ในที่มองเห็นได้ง่าย ชัดเจน และการเดินทางสะดวก


ก่อนเปิดกิจการ “นวดแผนไทย” นั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องติดต่อหน่วยงานต่าง ๆ ดังนี้

> กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ

โดยทั่วไปธุรกิจบริการจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ แต่ถ้าขายสินค้าอื่นร่วมด้วยต้องจดทะเบียน โดยสามารถศึกษารายละเอียดขออนุญาตได้ที่ www.ismed.or.th หรือที่ www.thairegistration.com

> กรมสรรพากร เพื่อดำเนินการทางภาษีการจดทะเบียน และภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยศึกษาจาก www.rd.go.th

> กระทรวงสาธารณสุข เพื่อจดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ

ทั้งนี้ หากเป็นการนวดเพื่อบำบัด วินิจฉัยโรค หรือฟื้นฟูสมรรถภาพ ตาม พ.ร.บ.การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 ผู้ทำการนวดต้องขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต “สาขาการแพทย์แผนไทยหรือเวชกรรมโบราณ” จากคณะกรรมการวิชาชีพก่อน และต้องดำเนินการในสถานพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาตแล้วเท่านั้น

แต่หากเป็นการนวดเพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อย ไม่ใช่เพื่อการรักษาโรค ผู้ที่ทำการนวดไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตผู้ประกอบการโรคศิลปะ

ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอได้ที่กองการประกอบโรคศิลปะ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข หรือในต่างจังหวัดยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

แม้ธุรกิจการนวดจะเป็นอาชีพให้บริการ แต่ก็เป็นอาชีพที่ต้องใช้ความรับผิดชอบสูงเช่นกัน โดยมีบทลงโทษทางกฎหมายหากผู้นวดกระทำการนวดแบบการรักษาโรค แต่ไม่มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ ซึ่งจะมีความผิดจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และแม้จะไม่ได้นวดแต่ขึ้นป้ายโฆษณาว่าเป็นการนวดรักษาโรคโดยไม่มีใบอนุญาตก็มีความผิด คือมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ตามกฎหมายผู้นวดต้องรับผิดชอบ หากเกิดอันตรายแก่ผู้ถูกนวด ดังนี้
หากทำให้ผู้อื่นเกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


หากผู้ถูกนวดเป็นอันตรายสาหัส ดังนี้คือ ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด เสียความสามารถที่ม่านประสาท อวัยวะสืบพันธุ์ ใบหน้า แท้งลูก จิตพิการติดตัว ทุพพลภาพหรือเจ็บป่วยเรื้อรังตลอดชีวิต หรือไม่สามารถประกอบกิจตามปกติเกินกว่า 20 วัน ต้องโทษจำคุก 6 เดือนถึง 10 ปี


หากกระทำโดยประมาท เช่น นวดแล้วเกิดอันตรายสาหัส ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


หากนวดผู้ป่วยแล้วทำให้เสียชีวิตถือว่ากระทำการโดยประมาท ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท

บาหลี สวรรค์นักช็อปปิ้ง



บาหลี สวรรค์นักช็อปปิ้ง โอเอซิสผู้ส่งออก

โดย ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ชื่อเรื่องอย่างนี้ ใครเห็นก็ต้องนึกว่าไปย่ำบาหลีมาแน่ๆ เชียว แต่ขอบอกแค่ได้เห็นได้จับต้องสินค้าจากเมืองอิเหนาเท่านั้นเอง (ในงานบิ๊กเมื่อเร็วๆ นี้ที่เมืองทองธานี) ไม่ได้บินไปถึงที่นั่น อย่างไรก็ตาม ได้ยินได้ฟังพรรคพวกที่ขายงานไม้อยู่ที่สวนจตุจักรเล่ามานานนมแล้วว่า เขาไปนำสินค้าจากบาหลีมาขายจนรวยไม่รู้เรื่อง สามารถขยายกิจการได้ภายในเวลาไม่กี่ปี

ยอมรับว่าแค่เห็นบรรดาผลิตภัณฑ์หลากหลายเมดอินบาหลีแล้วก็น้ำลายไหลอยากได้ไปตกแต่งบ้าน เพราะแต่ละชิ้นนอกจากจะสวยงามแล้วราคาก็ยังไม่แพง เรียกว่ามีเงินไม่กี่ร้อยก็ได้หลายชิ้น โดยเฉพาะบรรดาหน้ากากไม้สารพัด เขาตกแต่งด้วยสีฉูดฉาด ถึงขั้นต้องมองซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุจูงใจให้ต้องสนทนากับเจ้าของกิจการ คุณคริสโตเฟอร์ คาร์สัน ผู้จัดการบริษัท สไปซ ไอส์แลนด์ จำกัด ชาวอเมริกัน ซึ่งทำธุรกิจที่บาหลีมาเกือบยี่สิบปี และเป็นขาประจำมาออกงานบิ๊กของไทยอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากออกงานแฟร์ที่ฮ่องกง และที่แฟรงก์เฟิร์ต

นอกจากจะมีบริษัทส่งออกสินค้าบาหลีไปยังทั่วโลกแล้ว เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาเขาก็ตั้งบริษัทชื่อเดียวกันนี้ในประเทศไทยด้วย เพื่อส่งสินค้าเมดอินไทยแลนด์ประเภทกระเป๋าผ้า หรือโคมไฟ นั่นเพราะเขาเห็นช่องทางการเติบโตของสินค้าไทย ซึ่งสามารถกระจายไปได้ไม่ยาก


สำหรับผลิตภัณฑ์ของบาหลีที่คุณคริสโตเฟอร์ค้าขายอยู่นั้นมีเป็นร้อยเป็นพันแบบ เขาเปรียบเทียบสินค้าของไทยกับของบาหลีว่า
"ราคาของอินโดฯจะค่อนข้างถูกกว่า แต่ถ้าพูดถึงคุณภาพของไทยจะสูงกว่า โดยเฉพาะความละเอียดของงาน และสินค้าอะไรต่างๆ ของไทยค่อนข้างจะโตกว่าบาหลีอยู่แล้ว ที่อินโดฯนั้นงานฝีมือทุกอย่างจะมารวมกันที่บาหลี เหมือนที่เมืองไทยจะเป็นที่เชียงใหม่ แต่ในความเห็นของผม มองว่าจตุจักรมีสินค้าหลากหลายและครอบคลุมกว่า เพราะมีลูกค้าให้ไอเดียใหม่ๆ"

สาเหตุสำคัญที่ทำให้สินค้าของอินโดฯถูกกว่าของไทยนั้น เพราะค่าแรงของที่นั่นถูกกว่า รวมถึงวัตถุดิบบางอย่างเช่นไม้ชนิดต่างๆ ซึ่งหนุ่มใหญ่ชาวอเมริกันคนนี้วิเคราะห์ว่าตลาดในไทยยังโตได้อีก

อย่างที่บอกกลูกค้าของคุณคริสโตเฟอร์มีทั่วโลก แต่ตลาดใหญ่ที่สุดก็คืออเมริกาและอังกฤษ

คุณคริสโตเฟอร์ทำธุรกิจอยู่บาหลีมานาน ถึงขั้นตั้งรกรากอยู่ที่นั่น


"สินค้าประมาณ 50% อย่างพวกสร้อยคอมือ ลูกปัด หรือกระจก ซึ่งสั่งมาจากอเมริกาแล้วนำมาตกแต่ง ผมจะผลิตขึ้นมาเอง มีโรงงานอยู่ที่บาหลีมีคนงานอยู่ประมาณ 100-700 คน ส่วนสินค้าอื่นๆ รับซื้อมาจากกลุ่มต่างๆ แล้วจะมาดูว่าสินค้าตัวไหนที่จะไปได้ในปีนี้ จากนั้นมาทำแพ็กเกจจิ้งใหม่"


เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจง่ายขึ้นในการทำธุรกิจส่งออก คุณคริสโตเฟอร์อธิบายด้วยการเขียนภาพปิระมิดให้ดู
"พวกที่เขาส่งสินค้าเรามาเป็นสินค้าอุตสาหกรรมในครอบครัวหรือเป็นพวกเอสเอ็มอี แบบเมืองไทย ผมเองเป็นผู้ส่งออกก็อยู่บนยอดปิระมิด ที่เรียกว่าเป็น CO-ODINATE ส่วนซัพพลายเออร์แต่ละเจ้าก็จะคอยตรวจเช็คคุณภาพสินค้า ก่อนที่จะขึ้นมาถึงผมอีกทีหนึ่ง"


ในฐานะที่อยู่ในวงการธุรกิจส่งออกมาถึง 18 ปี เลยอยากฟังความเห็นถึงนโยบายการส่งเสริมโอท็อปของรัฐบาลไทยคุณคริสโตเฟอร์วิจารณ์ตรงไปตรงมาว่า
"ถ้าเทียบกับอินโดนีเซีย ของไทยสนับสนุนมากกว่า ซึ่งโอท็อปเป็นความคิดที่ดี แต่จะดีกว่านี้อีกถ้ารัฐบาลสนับสนุนให้ความรู้จริงๆ ว่าเรื่องการส่งออกคืออะไร การส่งออกที่สำคัญคือรายละเอียดด้านการจัดการเช่น เราสามารถระบุได้ว่าของสิ่งนี้เราจะบรรจุหีบห่อให้ลูกค้าอย่างไร ถุงหนึ่งกล่องหนึ่งมีกี่ชิ้น มีจำนวนกี่คิวบิกเมตรต่อตู้ อะไรอย่างนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการรายละเอียดค่อนข้างเยอะ แต่ว่าผู้ขายคนไทยมักจะไม่รู้อะไรตรงนี้เลย รวมถึงการทำรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าแต่ละตัว โดยมีบาร์โค้ด เพื่อสะดวกเวลาลูกค้าสั่ง"


เป็นธรรมดาของการทำธุรกิจ ย่อมมีปัญหาอุปสรรค เขาเองก็เช่นกัน
"ปัญหามันมีหลายหลากอย่างปัญหาที่ผมเจอเช่น เรื่องการควบคุมคุณภาพ เขาเช็คไม่ดี สินค้าไปถึงแล้วลูกค้าไม่พอใจ ตรงนี้เราก็ต้องคืนเงินให้หรืออย่างบางทีเวลาเราขนของเข้าตู้คอนเทนเนอร์ตอนเปิดตู้ฝนตกก็ไม่เป็นไร แต่พอไปถึงลูกค้าก็ขึ้นรา เกิดความเสียหายขึ้น"


ก่อนจบบทสนทนาในวันนั้น เขาบอกว่า ตอนนี้คนไทยก็รับสินค้าจากบาหลีมาเยอะ อย่างที่ภูเก็ต แต่ถ้าใครอยากจะซื้อผ่านเขาติดต่อได้ที่ (662) 238-4523 แฟ็กซ์ (662) 2672436 หรือ E-mail : sails@spice-islands.co.th

ไอศครีมผลไม้ จุดขายเพื่อสุขภาพ



ไอศครีมผลไม้ จุดขายเพื่อสุขภาพ

”ไอศครีม” ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัยก็ยังเป็นของโปรดของเด็ก ๆ รวมถึงผู้ใหญ่หลาย ๆ คน ซึ่งต่อให้เป็นช่วงฤดูหนาว แต่ด้วยรสชาติหอมหวาน อร่อยชื่นใจ ไอศครีมก็ยังขายได้ขายดี โดยไอศครีมนั้นก็มีมากมายหลายชนิด รวมถึง “ไอศครีมผลไม้” ที่ไม่มีส่วนผสมของนม ไข่ ไขมันจากสัตว์ ซึ่งเป็นทางเลือกของผู้ที่ชอบทานไอศครีม แต่ห่วงสุขภาพ-ทรวดทรง

วันนี้ทีมงาน “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลไอศครีมผลไม้มาฝากกัน....เมื่อเร็ว ๆ นี้ทีมงาน “ช่องทางทำกิน” ร่วมเดินทางไปกับคณะของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ไปที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อไปดูความสำเร็จของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่

น้อย-ดารา วงศ์วรรณ อายุ 42 ปี เจ้าของร้านมิสซิสไอซี่ (MRS.ICY) ที่ผลิตและขาย “ไอศครีมผลไม้ไขมันต่ำ” ซึ่งมีกว่า 43 รสชาติ โดยส่วนใหญ่จะใช้ผลไม้ในท้องถิ่น และสมุนไพรต่าง ๆ ก็เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ทีมงานได้ไปพบ

คุณน้อยเล่าว่า เรียนจบปริญญาตรีสาขาบัญชีจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็เข้าทำงานในบริษัทแห่งหนึ่ง แต่ก็ได้เรียนรู้ที่จะนำผลไม้ต่าง ๆ มาแปรรูปด้วย เพราะทางบ้านนั้นมีสวนผลไม้อยู่

ในตอนแรกก็ทำเป็นแยม โดยทำเป็นงานอดิเรกไว้รับประทานในหมู่ญาติและเพื่อน ๆ ต่อมาจึงทำขายด้วย ทำเป็นน้ำผลไม้ออกขายเพิ่มเติมจากแยม ซึ่งก็ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะไม่มีการใส่สารกันบูด สารปรุงแต่ง

ทั้งแยมผลไม้และน้ำผลไม้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เพื่อน ๆ ก็เลยเชียร์ให้ทำ “ไอศครีมผลไม้” ด้วย ซึ่งตอนแรกก็ไม่อยากทำเพราะไม่มีความรู้เรื่องไอศครีมเลย แต่ด้วยแรงเชียร์ก็เริ่มที่จะศึกษาด้วยตัวเอง โดยมีแนวความคิดว่าจะต้องทำเป็น “ไอศครีมเพื่อสุขภาพ” ไอศครีมที่ทำจะต้องไม่มีส่วนผสมของนม ไข่ ไขมันจากสัตว์ ไม่ใส่สารปรุงแต่ง สารกันบูด และจะต้องไม่หวานมาก

ทดลองทำ พัฒนาอยู่ประมาณ 1 ปี ก็ได้สูตรไอศครีมผลไม้ไขมันต่ำ ซึ่งในการทำระยะแรก ๆ นั้นมีอยู่ 20 รสชาติ นำทั้งผลไม้ท้องถิ่นมาทำ ไม่ว่าจะเป็น เสาวรส, มะเกี๋ยง, มะนาว, สตรอเบอรี่, มะม่วง, กระเจี๊ยบ ฯลฯ รวมถึงใช้พืชสมุนไพร ไม่ว่าจะเป็น ขิง, ตะไคร้, สะระแหน่, งาดำ ฯลฯ มาพัฒนาดัดแปลงทำเป็นรสชาติไอศครีม จนเดี๋ยวนี่รสชาติไอศครีมของร้านมิสซิสไอซี่มีกว่า 43 รสชาติ

คุณน้อยบอกอีกว่า อุปกรณ์ที่จำเป็นต้องมีในการทำไอศครีมขายหลัก ๆ ก็ได้แก่ เครื่องปั่นไอศครีม ที่เหลือก็จะเป็นอุปกรณ์ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นหม้อ เครื่องตวง เตาแก๊ส ทัพพี ฯลฯ

สำหรับเครื่องปั่นไอศครีมนั้น ถ้าเป็นราคาเครื่องที่สั่งทำพิเศษของร้านมิสซิสไอซี่ ราคาอยู่ที่เครื่องละ 200,000 บาท แต่ถ้าเป็นเครื่องเล็ก ๆ ที่มีขายอยู่แล้ว เครื่องละ 6,000 บาทก็พอใช้ได้แล้ว สำหรับผู้ที่เริ่มลงทุนใหม่ ส่วนวัตถุดิบที่ต้องใช้ก็มีผลไม้ต่าง ๆ พืชสมุนไพร น้ำสะอาด น้ำตาล และไขมันจากพืช (น้ำมันมะกอก)

ขั้นตอนการทำไอศครีม คุณน้อยแจกแจงว่า เริ่มจากการนำผลไม้หรือพืชสมุนไพรที่ต้องการจะทำไอศครีมรสชาตินั้น ๆ มาทำการแปรรูป ผ่านกรรมวิธีเพื่อที่จะได้ออกมาในรูปของน้ำ

ใช้น้ำผลไม้หรือน้ำสมุนไพรที่ได้ประมาณ 80% ผสมน้ำสะอาดประมาณ 5% แล้วทำการต้มเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรค ระหว่างต้มก็ใส่เนื้อของผลไม้นั้น ๆ ประมาณ 14% ใส่ไขมันจากพืชคือน้ำมันมะกอก 1% และน้ำตาลเล็กน้อย ผสมลง ไปต้มแค่พอเดือด จากนั้นก็ยกลงพักไว้ผลไม้ที่นำมาทำไอศครีมควรใช้ผลไม้ที่มีความแก่จัด เวลาทำออกมาจะได้รสชาติ และกลิ่นของผลไม้นั้น ๆ อย่างเต็มที่

ขั้นตอนต่อไป หลังจากน้ำผลไม้หรือน้ำสมุนไพรที่ผ่านการต้มฆ่าเชื้อโรคเย็นสนิทแล้ว ก็นำไปปั่นในเครื่องปั่นไอศครีม ใช้เวลาปั่นประมาณ 15-20 นาที สังเกตดูพอเนื้อเนียนก็ใช้ได้

หลังจากปั่นจนได้ที่ก็ทำการเทจัดเก็บไว้ในกล่องที่เตรียมไว้ จากนั้นก็นำไปทำกรรมวิธีต่อไป คือการบ่ม ซึ่งการบ่มก็คือการนำไปแช่เก็บไว้เพื่อเป็นการทำให้เนื้อไอศครีมได้เซทตัว ใช้เวลาบ่มประมาณ 6 ชั่วโมงก็จะใช้ได้

ไอศครีมผลไม้ไขมันต่ำที่ไม่มีการใส่สารกันบูดนี้ สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานประมาณ 1 ปี แต่ต้องอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม คือ -18 องศาเซลเซียส

การขาย “ไอศครีมผลไม้ไขมันต่ำ” ของร้านมิสซิสไอซี่ คุณน้อยบอกว่า มีทั้งขายเป็นแพ็ก ๆ ละ 3 กก. ราคา 240 บาท/กก. หรือแพ็กละ 720 บาท และขายแบบเป็นถ้วย ๆ ละ 20 บาท

ในส่วนของต้นทุนต่าง ๆ รวมทั้งหมด คุณน้อยบอกว่า จะอยู่ที่ไม่เกิน 85%

ร้าน “ไอศครีมผลไม้ไขมันต่ำ” มิสซิสไอซี่ ของคุณน้อย อยู่ที่ 119/50 หมู่ 5 ถนนมหิดล ต.หนองหอย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ใครสนใจจะสั่งไอศครีม ซึ่งก็มีราคาขายส่งให้นำไปขายต่อด้วย ก็ติดต่อได้ที่ โทร. 0-1884-2300

นี่ก็เป็นอีกหนึ่ง “ช่องทางทำกิน” ที่น่าสนใจ !!.

กวนเชียงปลา’ ทำเงินจากคนเบื่อหมู



กวนเชียงปลา’ ทำเงินจากคนเบื่อหมู

ช่องทางทำกิน” วันนี้ทางทีมงานมีข้อมูล “กวนเชียงปลา” ภูมิปัญญาชาวบ้านที่นำสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาดัดแปลงปรับปรุงให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และนำมาเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้...

ชุมพล จั่นจำรัส เจ้าของผลิตภัณท์ “กวนเชียงปลา” ฝีมือหนุ่มนักสู้ชีวิตแห่งบางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา เล่าให้ฟังถึงที่มาของอาชีพทำกวนเชียงปลาขายว่า เป็นคนบางน้ำเปรี้ยวโดยกำเนิด อดีตเคยเป็นเซลส์ขายไอศกรีมมาก่อน พอแต่งงานมีครอบครัวก็ออกมาค้าขายอยู่ประมาณ 2 ปี มีปัญหากัน และได้แยกกับภรรยา จากนั้นก็ได้ไปบวชที่วัดเภตา จ.ระยอง

หลังลาสิกขากลับมาอยู่บ้านกับแม่ที่แปดริ้ว นั่งคิดว่าจะทำอาชีพอะไรเลี้ยงตัวเองและแม่ที่แก่แล้ว ก็มาลงตัวที่อะไรที่เกี่ยวกับ “ปลา” “ที่นี่มีคนเลี้ยงปลากันมาก ผมชอบทานปลา น่าจะทำอะไรเกี่ยวกับปลา จำได้ว่าตอนมัธยมเคยเรียนการแปรรูปและถนอมอาหาร การทำกุนเชียงหมู ก็เลยคิดว่าเราน่าจะดัดแปลงจากเนื้อหมูมาเป็นเนื้อปลา

ก็พยายามคิดพัฒนาสูตร ลองผิดลองถูกนานพอสมควร เสียทั้งเงินเสียทั้งของไปไม่น้อย จนนึกท้อ เพราะต้องกู้เงินเอามาทำ แต่ได้กำลังใจจากแม่และคุณครู จนมีแรงฮึดสู้ต่อ คิดว่าถ้าเรามุ่งมั่น ตั้งใจจริง สักวันต้องสำเร็จ”

จากนั้นก็ได้ศึกษาค้นคว้าตำราการถนอมอาหารมาประกอบ และซื้อกวนเชียงปลาจาก จ.สิงห์บุรี มาทดลองชิม พัฒนารสชาติเฉพาะให้เป็นของตนเอง ซึ่งจะเน้นที่ปลาเป็นหลัก จะไม่มีส่วนผสมของแป้ง

และเมื่อนำไปให้ญาติพี่น้องและคนรู้จักชิมดู ทุกคนบอกว่าอร่อย ก็เริ่มทำขายทีละน้อย ๆ เป็นการลองตลาด ชุมพลบอกว่า

ทุกวันนี้ขายกวนเชียงปลาอยู่ข้าง ๆ ธนาคารกรุงไทย ก่อนทางเข้าตลาดบางน้ำเปรี้ยว เปิดตัวขายมาได้หลายเดือนแล้ว ก็มีลูกค้าพอสมควร ส่วนผสมหลักของกวนเชียงปลาก็คือ เนื้อปลา ชุมพลบอกว่าสามารถใช้ปลาน้ำจืดได้ทุกชนิด แต่ส่วนใหญ่นิยมใช้ ปลานวลจันทร์ และ ปลายี่สก ผสมกัน เพราะปลาทั้งสองชนิดเมื่อนำมาทำกวนเชียงจะให้เนื้อที่เหนียวนุ่มเนียนสวย ที่สำคัญมีราคาถูกกว่าปลาชนิดอื่น โดยสั่งแล่มาเสร็จจากตลาด

ที่ขาดไม่ได้คือ ไส้ขมหมู ที่ใช้บรรจุเนื้อปลา โดยหาซื้อได้จากตลาดทั่วไป ซึ่งต้องนำมาขูด และล้างเอาเมือกออกให้สะอาด ล้างจนหมดกลิ่นคาวเสียก่อน จากนั้นก็นำมาดองเกลือ ปัจจุบันก็มีการดองขายสำเร็จ


อุปกรณ์ที่ใช้ก็มี...
เครื่องตีปลา, เครื่องบด, กรวยกรอกสเตนเลส, เครื่องหั่น มันหมู, เครื่องนวดผสม, ถาด, เครื่องอบลมร้อน, มีด, กะละมัง, เชือกฟาง, เขียง, กระทะ, ทัพพี และเครื่องใช้เบ็ดเตล็ดอื่นๆ

ทั้งนี้ อุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในการผลิตกวนเชียงปลา หรือกุนเชียงปลา ค่อนข้างมีราคาแพงมาก ทั้งเครื่องตีปลา, เครื่องบด และตู้อบ นุ่มนักสู้ชีวิตอย่างชุมพลจึงสร้างประกอบขึ้นมาเอง โดยอาศัยความรู้ที่เคยเรียนมาเป็นพื้นฐาน และสอบถามจากผู้ที่มีความรู้ด้านช่าง ก็เป็นการลดต้นทุนอีกทางหนึ่ง

ส่วนผสมกวนเชียงปลา ตามสูตรก็มี

(ใช้ปลานวลจันทร์ ปลายี่สกเทศ หรือปลากรายก็ได้) 20 กก.

มันหมูแข็ง 1 กก.

ซีอิ๊วขาวอย่างดี 2 ขวด

เกลือไอโอดีน 200 กรัม

น้ำตาลทราย 4 กก.

โซเดียมไบคาร์บอเนต 30 กรัม

เครื่องเทศ (เมล็ดผักชี, และพวกไม้หอม โป๊ยกั๊ก อบเชย ที่นำไปคั่วรวมกันจนหอมแล้วบดละเอียด เพื่อดับกลิ่นคาว) 30 กรัม

และรสดี 1 ซอง เพื่อเพิ่มรสชาติให้กลมกล่อมยิ่งขึ้น

ชุมพลบอกว่า ในส่วนของเครื่องปรุงนั้น สามารถปรับเพิ่มหรือลดได้ อาศัยการชิมรสชาติ ขึ้นอยู่กับความพอใจ สูตรไม่ตายตัว แต่ควรให้มีรสหวานนำเล็กน้อย

ขั้นตอนการทำ “กวนเชียงปลา”

เริ่มจาก นำเนื้อปลามาเข้าเครื่องบดจนละเอียด 2 ครั้ง

หั่นมันหมูแข็งให้เป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋าเล็ก ๆ เอาส่วนผสมทั้งหมดมาใส่ลงในเครื่องนวดผสม คลุกเคล้าส่วนผสมทั้งหมดเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน นานประมาณ 30 นาที จนเนื้อปลาเหนียวเนียน

ระหว่างนวดต้องคอยเติมน้ำเย็นหรือน้ำผสมน้ำแข็งป่น ประมาณ 2 ถ้วยตวง จะช่วยให้เนื้อปลามีความเหนียวและเนียนเข้ากันง่ายขึ้น

พอได้แล้ว ก็นำไปกรอกใส่ไส้ ใช้อุปกรณ์ที่เป็นสเตนเลสรูปกรวย ส่วนปลายเป็นท่อนยาว ๆ สำหรับใส่ไส้มาติดเข้าไปแทนที่หัวบดที่ตัวเครื่องบด

เอาไส้ขมสอดเข้าไปในแท่งกรวยจนหมดไส้ ใช้เชือกมัดปลายไส้ แล้วเปิดเครื่องเอาเนื้อปลาที่ผสมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ใช้ทัพพีตัก ค่อย ๆ ใส่ลงไปในเครื่อง เนื้อปลาจะถูกดันออกมาตรงปลายกรวย และดันไส้ออกไปเรื่อย ๆ จนสุด

ใช้เชือกฟางมัดหัวมัดท้ายให้เป็นท่อน ๆ ยาวท่อนละ 6 นิ้ว จนหมด

จากนั้นนำไปแขวนในเครื่องอบลมร้อน ใช้อุณหภูมิประมาณ 60 องศาเซลเซียส อบนาน 8 ชั่วโมง แล้วนำมาผึ่งแดดให้แห้งสนิทอีก 2 วัน ก็นำมาบรรจุถุงแพ็กขายได้

ชุมพลบอกว่า กวนเชียงปลาเมื่อผ่านการอบแห้งแล้ว น้ำหนักจะหายไปประมาณ 20-30% ตามสูตรหลังอบแห้งจะเหลือกวนเชียงปลาหนักประมาณ 15-20 กก. รสชาติกวนเชียงปลาจะอร่อยหวานเค็มมันไม่แพ้กุนเชียงต้นตำรับ

และมีอายุการเก็บรักษาได้นานพอ ๆ กัน คือในอุณหภูมิปกติอยู่ได้นาน 7-10 วัน ถ้าเก็บไว้ในตู้เย็นสามารถเก็บได้นาน 2-3 เดือน

โดยราคาขายกวนเชียงปลาก็อยู่ที่ กก.ละ 130 บาท


ใครสนใจผลิตภัณฑ์ กวนเชียงปลา หรือกุนเชียงปลา หรือปลาเชียง ของชุมพล จั่นจำรัส หรือต้องการสั่งไปจำหน่าย ก็ติดต่อกับหนุ่มนักสู้ชีวิตรายนี้ได้ที่ โทร. 0-6121-9738

เชาวลี ชุมขำ รายงาน จเร รัตนราตรี ภาพ

'108 shop' ร้านค้าของคนทุนน้อย



'108 shop' ร้านค้าของคนทุนน้อย

ในบรรดาอาชีพหรือธุรกิจส่วนตัวเล็ก ๆ รูปแบบต่าง ๆ ที่คนรุ่นใหม่หรือแม้แต่คนรุ่นเก่าอยากจะทำกัน มีธุรกิจ "มินิมาร์ท"รวมอยู่ด้วยอย่างมิต้องสงสัย แต่จะมีใครสักกี่คนกันที่สานฝันตนเองได้ เพราะมินิมาร์ทแต่ละแห่งนั้น...การจะเปิดได้มิใช่ใช้ทุนแค่หลักหมื่น-หลักแสน...แต่เป็นล้าน !! อย่างไรก็ตาม วันนี้ทีมงาน "ช่องทางทำกิน"มีลู่ทางใหม่ ๆ สำหรับคนที่อยากจะมีมินิมาร์ทมาให้ลองพินิจพิจารณา-ลองตัดสินใจกัน...

มินิมาร์ทของคน "ทุนน้อย" 108 ช็อป หรือ "108 Shop"เป็น "ร้านขายปลีกระดับรากหญ้า"เป็นโครงการของ บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) โดย คุณบุญเกียรติ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการบริษัท บอกว่า...

เป็นโครงการที่ช่วยจัดการธุรกิจในร้านขายปลีก จัดตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์หลักในการสร้างรายได้เพิ่มให้กับผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการ " โดยใช้เงินลงทุนที่น้อยที่สุด เพื่อให้ได้กำไรเร็วที่สุด"

ร้าน 108 Shop จะขายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยในหนึ่งร้านอาจจะมีหลายหมวดสินค้า เช่น... เสื้อผ้า, สินค้าใช้ประจำวัน-ประจำบ้าน, เครื่องใช้ภายในบ้าน, เครื่องหนัง, รองเท้า, ชุดชั้นใน, อาหารแห้ง, อาหารสด, ขนมขบเคี้ยว, เครื่องสำอาง, เครื่องกีฬา, เครื่องประดับ, ยาสามัญ, หนังสือ ฯลฯ

เป็นร้านที่เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่มีสถานที่อยู่แล้ว ไม่ว่าจะทำการค้าขายอยู่หรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องสถานที่ตั้งหรือทำเล และในกรณีที่มีร้านค้าอยู่แล้วก็อาจจะแยก 108 Shop ให้เป็นอีกสัดส่วนหนึ่งในร้านก็ได้ ขนาดก็อาจจะเล็กหรือใหญ่ก็ได้ แต่ไม่ควรใหญ่เกิน 200 ตร.ม. และไม่ควรเล็กกว่า 20 ตร.ม. ร้านที่จัดตั้งขึ้นนี้สามารถจะขายสินค้าของทั้งในเครือสหพัฒน์ และบริษัทอื่น ๆ ร่วมกันได้

โดยทางโครงการจะติดตั้งป้าย 108 Shop ให้ โดยคิดค่าใช้จ่ายตามจริง (รวมถึงภาษีป้าย) ที่สำคัญ...ไม่มีการเก็บค่าลิขสิทธิ์ (Franchise Fee) หรือค่าธรรมเนียมแรกเข้า (Entrance Fee) และเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการก็ไม่จำเป็นต้องมีเงินเป็นแสน-เป็นล้าน สามารถจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป จากเล็กไปหาใหญ่ แค่มี "สมุดเงินฝาก" มีเงินทุนส่วนหนึ่ง "เปิดบัญชีธนาคาร"ไว้

ทางโครงการก็จะจัดส่งสินค้าให้จำหน่ายตามเงินทุนที่เปิดบัญชีอยู่ และจะทำการเก็บค่าสินค้าโดยตัดจากบัญชีดังกล่าว ทั้งนี้ การสั่งซื้อสินค้าครั้งแรกอาจมีมูลค่าตั้งแต่ 1,000-20,000 บาท จนถึงมูลค่า 200,000-400,000 บาท แล้วแต่ขนาดของพื้นที่ร้าน ซึ่งรอบระยะเวลาบัญชีหรือการให้เครดิตสั่งสินค้าได้ก่อนจะมีการตัดบัญชีจ่ายค่าสินค้า...คือ 30 วัน

โดยอาจจะใช้วิธีโอนเงินผ่านธนาคารก็ได้...ไม่มีการจ่ายเป็นเงินสด สินค้าก็สามารถคืนหรือเปลี่ยนได้ภายใน 60 วัน นับจากวันที่รับสินค้า !!

สำหรับผู้ที่สนใจจะสมัครร่วมโครงการเพื่อเปิดร้าน "108 Shop" เอกสารที่ต้องใช้เพื่อสมัครเป็นสมาชิกก็ประกอบด้วย...

ใบสมัครเข้าร่วมโครงการ

สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์

หนังสือยินยอมให้หักบัญชีเงินฝากเพื่อโอนเงิน (สำหรับธนาคารกรุงเทพหรือธนาคารไทยพาณิชย์)

สำเนาบัตรประชาชน

สำเนาทะเบียนบ้าน

สำเนาใบทะเบียนพาณิชย์ (ถ้ามี)

สำเนาทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ถ้ามี)

กรรมการผู้อำนวยการบริษัท ไอ.ซี.ซี แจกแจงต่อไปว่า...ทางโครงการจะมีการ "แนะนำ-อบรม" วิธีการในการพัฒนาร้านให้กับผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการ เช่น วิธีบริหารร้าน วินัยการเงิน การทำบัญชีร้าน เทคนิคการขายและบริการ, การดูแลเรื่องความสะอาดเรียบร้อยของพื้นที่ขาย ฯลฯ

ย้อนดูเรื่องของสถานที่ทำร้านเพิ่มเติมอีกหน่อย...ผู้ที่สนใจอาจจะมีลักษณะของสถานที่ อาทิ...ห้องแถวที่ไม่ได้ใช้ประกอบธุรกิจ หรือประกอบธุรกิจบางอย่างอยู่แล้วและอยากทำธุรกิจเพิ่ม, ห้องในคอนโดฯ-อพาร์ตเมนต์-แฟลต, ห้องในอาคารสำนักงาน, ในซูเปอร์มาร์เกต, ห้องในโรงเรียน, ห้องในศูนย์การค้า, ทาวน์เฮาส์ หรือร้านในหมู่บ้าน, ห้องในโรงงาน, ร้านสวัสดิการ, บูธเล็ก ๆ ตามย่านชุมชน ฯลฯ

หรือถ้าจะทำแบบเป็น "รถปิกอัพ"ตระเวนขายก็ยังได้ และก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นปิกอัพเท่านั้น จะเป็น "มอเตอร์ไซค์-สามล้อเครื่อง"หรือเป็น "รถเข็น"ก็ได้ทั้งนั้น !!

สรุป...การทำธุรกิจ "108 Shop"สามารถทำได้ตั้งแต่ขั้นตั้งไข่ สั่งสินค้าไปขายตรงตามบ้าน ทดลองขายนิดหน่อยอยู่ที่บ้าน เปิดเป็นร้านมีรูปแบบชัดเจน จนถึงขั้นพัฒนาเป็นมินิมาร์ท ซึ่งทางบริษัท-ทางโครงการเขาการันตีมาว่า...ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนแม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ก็จะนำสินค้าไปส่งให้ขายถึงที่

เรื่องผลกำไร...ผู้ขายจะมีกำไรประมาณ 15-20% จากราคาขายสินค้า

"นโยบายของ 108 Shop คือบริการสนับสนุนการขายปลีกในชุมชน มีสินค้าอุปโภค-บริโภคหลากหลายหมวดสินค้า เพื่อเพิ่มรายได้ให้สมาชิกผู้ประกอบการ มุ่งให้สมาชิกผู้ประกอบการเป็นเจ้าของร้านเอง เพื่อให้ผู้ประกอบการลงทุนน้อยที่สุด มีกำไรโดยเร็วที่สุด"...ผู้บริหารบริษัท ไอ.ซี.ซี.ระบุ พินิจพิเคราะห์มาถึงตรงนี้


...หากใครสนใจธุรกิจร้านขายปลีกสารพัดสินค้าสำหรับคนมีทุนน้อยอย่าง "108 Shop" มีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ หรือมีข้อสงสัยต้องการจะสอบถามเพิ่มเติม ก็ติดต่อไปได้ที่...
คุณชุติมา หรือ คุณพิมพ์ชนก โทร. 0-2295-3108 ในเวลาทำการ 08.00-17.00 น. หรือที่ คุณมณีรัตน์ หรือ คุณบุษกร โทร. 0-1930-4694 ตั้งแต่เวลา 08.00-22.00 น.