Tuesday, August 5, 2008

Thai Go ฟาสต์ฟู้ด อาหารไทย



Thai Go ฟาสต์ฟู้ด อาหารไทย...ในอเมริกา

ตามนโยบาย "ครัวไทยสู่ครัวโลก" ในส่วนของการสร้างโอกาสในการขยายตลาดนั้น ในรูปของร้านอาหารไทยในต่างแดน ที่ภาคเอกชนดำเนินการอยู่ในขณะนี้ มีด้วยกัน 2 แนวทาง คือ นักธุรกิจในประเทศไทย สร้าง แบรนด์ และพัฒนาจนเป็นโมเดลธุรกิจร้านอาหารไทย ที่เข้มแข็ง และขายแฟรนไชส์ไปต่างประเทศ

และอีกแนวทางหนึ่งก็คือ ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยที่อยู่ต่างแดน มีศักยภาพและเห็นโอกาส ในการที่รัฐบาลให้การส่งเสริมและสนับสนุน จึงใช้โอกาสนี้เพื่อการต่อยอดธุรกิจ โดยใช้พื้นฐานและศักยภาพของตัวเองที่ชำนาญพื้นที่ รู้จักตลาด รู้ช่องทางเป็นทุน ต่อยอดธุรกิจ

"Thai Go" คือต้นแบบในแนวทางที่ 2 ที่ถูกพัฒนาและสร้างขึ้นโดยคนไทยที่เข้าไปตั้งหลักปักฐานที่อเมริกามานาน และมองเห็นลู่ทางในการทำธุรกิจร้านอาหารไทยในรูปแบบฟาสต์ฟู้ด

ปัญญา ทิพยโสติถิ ประธานกรรมการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและแฟรนไชส์ บริษัท ไทยฟู้ด อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ กล่าวว่า ผมต้องการสร้าง "Thai Go" ให้เป็นฟาสต์ฟู้ดร้านอาหารไทย กระจายไปทั่วประเทศอเมริกา ซึ่งมองว่ามีโอกาสทางการตลาดสูงมาก ซึ่งปัจจุบันทางบริษัทได้มีการลงทุนทำมา 2-3 ปีแล้ว ปัจจุบันมีอยู่ 9 สาขา และสามารถทำรายได้และกำไรเป็นที่น่าพอใจ จึงอยากที่จะฉกฉวยโอกาสนี้ขยายสาขาในรูปแบบของแฟรนไชส์

เพราะที่อเมริกา แฟรนไชส์ร้านอาหารไทยในรูปแบบฟาสต์ฟู้ดยังไม่มีใครทำ ถ้าเริ่มก่อน โอกาสก็มาถึงเราก่อน

"ในอเมริกา ร้านอาหารไทยส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบร้านมีที่นั่งตกแต่งในสไตล์ที่หรูหรา ซึ่งก็เป็นโอกาสที่ดีช่องทางหนึ่ง แต่ในรูปแบบของฟาสต์ฟู้ด ก็จะเป็นโอกาสที่ดีอีกช่องทางหนึ่งอีกเช่นกัน เพราะเราจะไปตั้งอยู่ในฟู้ดคอร์ตต่างๆ"

ซึ่งรูปลักษณ์จะเป็นเคาน์เตอร์ มีพื้นที่สำหรับทำครัวอยู่ด้านหลัง รูปแบบคล้ายๆ กับฟู้ดคอร์ตในบ้านเรา จะต่างก็ตรงที่ร้านใกล้เคียงเป็นร้านที่ขายอาหารนานาชาติ อาทิ จีน อเมริกัน ฯลฯ เรียกได้ว่าค่อนข้างหลากหลาย โดยมี "Thai Go" เป็นหนึ่งในทางเลือก

เรื่องของเมนูจะมีถึง 2 ทางเลือกไว้คอยบริการ คือ 1.อาหารจานด่วน ก็คือ ข้าวราดแกง ซึ่งจะมีอาหารให้เลือกประมาณ 8-9 อย่าง/วัน อาทิ แกงไก่ ผัดพริกขิง ไก่ทอดกระเทียมพริกไทย

ผัดผักรวม ฯลฯ ราคาต่อจาน ถ้าเป็นกับข้าว 1 อย่าง 4.95 เหรียญ, 2 อย่าง 5.95 เหรียญ แต่ถ้า 3 อย่าง 6.50 เหรียญ

ส่วนรูปแบบที่ 2. เมนูตามสั่ง ราคาจะแพงหน่อยประมาณ 6.50 เหรียญ และต้องรอประมาณ 5-10 นาที

ซึ่งการเปิดให้บริการแบบนี้ ปัญญาอธิบายให้ฟังว่า ปัจจุบันเทรนด์การบริโภคของคนอเมริกันเริ่มเปลี่ยน คือนอกจากจะนิยมอาหารเพื่อสุขภาพแล้ว ยังชอบที่จะรับประทานอาหารที่ปรุงสดๆ จากเดิมที่นิยมอาหารแช่แข็งเข้าไมโครเวฟ

ซึ่งจากที่ทำมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา สำหรับอาหารไทยสไตล์ฟาสต์ฟู้ดมีการเติบโตที่ดี มียอดขายเฉลี่ยประมาณ 500,000-600,000 เหรียญ/ปี ถ้าอยู่ในโลเกชั่นที่ดีก็อาจทะลุ 800,000- 1,000,000 เหรียญ/ปี ตามยอดขายนี้หักต้นทุนทุกอย่างเหลือเป็นกำไรก่อนหักภาษีประมาณ 10-15%

การพัฒนาระบบฟาสต์ฟู้ดร้านอาหารไทยขึ้นมา เหมือนเป็นการเรียนลัดในด้านการลงทุนร้านอาหารไทย เพราะเรามีการย่อส่วนในการลงทุน ย่อส่วนในเรื่องของการบริหารจัดการ เรื่องบุคลากร เชฟ พนักงานเสิร์ฟ ฯลฯ ทุกส่วน

ถ้าเราลงทุนร้านอาหารไทยในรูปแบบเป็นร้าน จะยากเพราะความใหญ่ความครบถ้วนก็จะแบบหนึ่ง แต่ถ้าเป็นฟาสต์ฟู้ดอาหารไทย โมเดลธุรกิจที่มีระบบการบริหารจัดการที่พร้อมแล้ว ความยากก็จะลดลง รวมถึงเม็ดเงินในการลงทุนด้วย

ซึ่งสำหรับเงินลงทุนฟาสต์ฟู้ด "THAI GO" อยู่ที่ประมาณ 250,000 เหรียญ ! คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 10 ล้านบาท

แยกเป็นค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ ดังนี้ ค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ 30,000, ค่าออกแบบและใบอนุญาต 10,000, ค่าก่อสร้างปรับปรุงร้าน 100,000, ค่าวัสดุอุปกรณ์ในครัว 50,000, ค่าระบบคอมพิวเตอร์และเครื่องเก็บเงิน 15,000, ค่าสินค้าคงคลัง 5,000, ค่าฝึกอบรมและโฆษณาก่อนเปิด 15,000, ค่ามัดจำการเช่าร้าน 1 เดือน 15,000 และเงินสดสำรอง 15,000 รวมเป็นเงินที่ต้องใช้ในการเปิดร้าน 250,000 เหรียญสหรัฐ นอกจากนี้แฟรนไชซีต้องจ่ายรอยัลตี้ฟี 5% ของยอดขายทุกเดือน

ปัญญาบอกว่า จากประสบการณ์ของทีมงานที่คลุกคลีอยู่ในธุรกิจร้านอาหารไทยในอเมริกามานานเกือบ 20 ปี มองเห็นถึงโอกาสว่า อาหารไทยสามารถเติบโตได้อย่างดีในสหรัฐอเมริกา แต่ยอมรับว่า ทางบริษัทมีข้อจำกัดในเรื่องของเงินทุน จึงได้พัฒนาธุรกิจออกมาในรูปของแฟรนไชส์ เพื่อเปิดหาพันธมิตรที่มองเห็นโอกาสร่วมกัน

"ซึ่งไม่ได้จำกัดแต่นักลงทุนไทย แต่เปิดกว้างรองรับนักลงทุนชาวเอเชีย ยุโรป อเมริกา ที่สนใจอยากลงทุนอาหารไทยด้วย"

ปัญญาอธิบายต่อว่า และข้อดีสำหรับธุรกิจแฟรนไชส์นั้น ก็คือ การันตีความสำเร็จ !

ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะการทำธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศสหรัฐ อเมริกานั้น ต่างกับเมืองไทย เมืองไทยกฎหมาย กฎ กติกา อาจจะยังไม่เข้มงวด แต่ที่อเมริกา ทุกอย่างต้องพร้อมตรวจสอบได้ การจะทำระบบแฟรนไชส์ได้ต้องขออนุญาตก่อน ได้ใบอนุญาตถึงจะดำเนินการได้ ซึ่งกว่า "THAI GO" จะได้ใบอนุญาตก็ต้องผ่านการตรวจสอบในทุกๆ ด้านมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องระบบการบริหารจัดการ ความเป็นไปได้ของธุรกิจ เรื่องของการเงิน การบัญชี บุคลากร ฯลฯ ซึ่งถ้าไม่เฟิร์ม ไม่มีทางผ่าน

ฉะนั้นปัญหาที่จริงๆ เวลานี้ก็คือ ทุน !

"ที่ผ่านมา การทำธุรกิจร้านอาหารไทยร้านแรก ใช้เงินยืมจากพี่ เพื่อน ญาติ เงินลงทุนก้อนแรกประมาณ 50,000 เหรียญ จากร้านแรกก็ขยายร้านที่ 2 โดยใช้กำไรในการขยายธุรกิจ มีล้มลุกคลุกคลานบ้าง ใช้เงินหมุนจากบัตรเครดิตบ้าง เงินกู้จากสถาบันการเงินในอเมริกา แต่ก็ได้ไม่มาก....หลักใหญ่จึงเป็น เงินต่อเงิน และห้ามใช้เงินผิดประเภท เงินที่ขายอาหารได้ ต้องคิดอยู่เสมอว่า ไม่ใช่เงินของเราทั้งหมด

พอรัฐบาลไทยเปิดตัวพร้อมสนับสนุน ล่าสุด ก็เลยหันมากู้แบงก์ไทย ซึ่งล่าสุด เอสเอ็มอีแบงก์ได้อนุมัติให้กู้ประมาณ 14 ล้าน นั่นก็เพียงพอสำหรับการลงทุน ประมาณ 1 สาขา ขณะที่โอกาสในการขยายสาขายังมีมากกว่านี้

เพราะฉะนั้นสำหรับนักลงทุนที่สนใจ ลองศึกษารายละเอียดของธุรกิจนี้ "อย่าด่วนตัดสินใจ" ให้ศึกษารายละเอียดให้ดีก่อน และหากตัดสินใจแน่นอนแล้ว ตัดสินใจวันนี้ อีก 1 ปีหลังจากนั้น ถึงจะเห็นการลงทุนเป็นรูปเป็นร่างและเปิดขายได้ !

"โดยที่เรามั่นใจว่า THAI GO น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุนที่สนใจธุรกิจอาหารได้เป็นอย่างดี" เจ้าของแฟรนไชส์ THAI GO กล่าวพร้อมกับบอกว่า แต่ทั้งนี้ต้องบอกว่า ธุรกิจอาหารไทยเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่มีเงินอย่างเดียวไม่พอ ที่สำคัญเจ้าของเงินต้องรักในธุรกิจนี้ด้วย เพราะเป็นธุรกิจบริการ ที่ต้องอาศัยความอดทน และความเข้าใจ ในการหมั่นดูแลเอาใจใส่ เพื่อให้ได้สินค้าอาหารที่ดี มีรสชาติคงเส้นคงวา และมีรสชาติอร่อย และสุดท้ายเป็นอาชีพที่เหนื่อยและหนักพอสมควร !

No comments: