Tuesday, August 5, 2008

ผักเดลิเวอรี่ ขายถึงที่



ผักเดลิเวอรี่ ขายถึงที่...ทั้งปลีก-ส่ง


ยุคนี้ร้านขายของชำ-ขายผักค่อย ๆ ทยอยหายไป ขณะเดียวกันก็มี “รถปิกอัพขายผัก” และขายของประเภทเครื่องปรุงอาหารต่าง ๆ เกิดขึ้นมาแทนที่ โดยตระเวนขายไปตามแหล่งชุมชนที่อยู่อาศัยทั่วไป ซึ่งวันนี้ทีมงาน “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลการทำอาชีพค้าขายรูปแบบนี้มาเล่าสู่กันฟัง...

ทนงชัย คำผุย อายุ 30 ปี เป็นอีกหนึ่งคนที่ยึดอาชีพเป็นพ่อค้าขายผักแบบเร่ขายด้วยรถปิกอัพ โดยเจ้าตัวบอกว่า ทำอาชีพนี้มาประมาณ 2 ปีแล้ว ก่อนหน้านั้นตนทำงานก่อสร้างมาราว 7 ปี หลังจากที่ทำงานเก็บเงินได้ก้อนหนึ่งน้องชายก็แนะนำให้มาทำอาชีพขายผักส่งแบบเร่ขาย เพราะเขาทำอยู่ก่อนแล้ว และรายได้ค่อนข้างดี

“พี่น้องผม 7 คน ทำแบบนี้ 6 คนแล้ว และผมยังแนะนำให้เพื่อนทำแบบนี้เช่นเดียวกัน”

ทนงชัยเริ่มต้นธุรกิจดังกล่าวนี้ด้วยการดาวน์รถด้วยเงิน 39,000 บาท และจะต้องผ่อนส่งเดือนละ 7,000 บาท โดยใช้เวลาส่งรถ 6 ปี เมื่อซื้อรถมาแล้วก็มาต่อส่วนของโครงสร้างรถเพิ่มเติม เช่น ต่อแผง ซื้อตะกร้า กิโล และอุปกรณ์เพิ่มเติมอีกประมาณ 1,000 บาท

ในการขายแต่ละวันจะลงทุนผักวันละ 7,000-10,000 บาท แล้วแต่ออร์เดอร์ของลูกค้าว่ามากน้อยเท่าไหร่ ซึ่งตนเองจะเน้นขายส่งตามร้านอาหาร โดยหากขายผักหมดจะได้กำไรหลังหักทุนวันละ 1,500-1,600 บาท

นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายเรื่องผักสดแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าน้ำมันอีก โดยในแต่ละวันจะวิ่งรถ 70-80 กก. เติมน้ำมันวันละ 300-350 บาท โดยจะวิ่งขายอยู่ในกรุงเทพฯ ไปตามย่านบางบัว เรือนจำคลองเปรม และตลาดประชานิเวศน์ แต่หลัก ๆ แล้วจะวิ่งส่งตามร้านอาหารทั่วไป ประมาณวันละ 20-25 ร้าน ซึ่งเป็นเจ้าประจำกัน

การขายผักสดแบบขายส่งจะส่งทุกอย่าง ทั้งที่ร้าน อาหารตามสั่ง ร้านข้าวแกง ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านส้มตำ สวนอาหาร ซึ่งของที่ร้านเหล่านี้ต้องใช้ อาทิ ผักคะน้า กวางตุ้ง ผักกาดขาว กะหล่ำปลี มะเขือเทศ มะเขือสีดา มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว ฟักทอง หอมใหญ่ ต้นหอม ผักชี ข้าวโพด แตงล้าน แตงกวา พริกขี้หนูแห้ง หัวไชเท้า มะระ มะละกอ ผักกาดหอม ผักกะเฉด ผักบุ้งจีน ผักบุ้งไทย มะละกอดิบ กระเทียม มะนาว ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หน่อไม้ ฯลฯ ซึ่งผักดังกล่าวนี้จะต้องเป็นของสด ใหม่ และต้องขายให้หมดทุกวัน

“ทุกเช้ามืดของทุกวันจะไปซื้อผักสดที่ตลาดสี่มุมเมือง แต่ถ้าช่วงไหนที่ผักราคาแพงเพราะมีของน้อยต้องไปซื้อเตรียมไว้ตั้งแต่ตอนกลางคืน เพราะตอนเช้าจะยิ่งแพงมากหรือหมด ถ้าช่วงไหนที่ผักราคาถูก มีเยอะ ก็ไปซื้อตอนเช้ามืดได้ตามปกติ” ...เป็นอีกเคล็ดลับสำหรับอาชีพนี้

ทนงชัยบอกอีกว่า การซื้อผักจากแหล่งที่มีชาวสวนนำมาขายเองเลย ไม่ต้องไปซื้อต่อจากยี่ปั๊วขายผักอีกที จะเหมาะกับการนำไปขายส่ง แต่ก็มีบางคนที่ซื้อจากยี่ปั๊วแล้วนำไปเร่ขายรายย่อยทั่วไป ก็จะต้องขายในราคาสูงขึ้นหน่อย แต่ส่วนใหญ่คนที่ซื้อก็ไม่ค่อยซีเรียสมาก เพราะเป็นการซื้อไปทำกับข้าวกินเอง ไม่ใช่ค้าขายที่ต้องห่วงเรื่องทุน

อย่างไรก็ตาม ตนเองขายส่งตามร้านอาหาร ต้องขายในราคาถูก แต่ก็อาศัยว่าขายได้จำนวนมาก ไม่ต้องไปเร่ขายปลีกที่จะต้องใช้เวลามากกว่า

เมื่อซื้อผักมาแล้ว ก็จะมาจัดผักตามออร์เดอร์ของร้านค้าที่สั่งไว้ ประมาณ 10.00 น. ก็เรียบร้อย จากนั้นก็จะตระเวนส่งตามร้านเจ้าประจำ ส่วนที่เหลือก็จะตระเวนขายตามย่านชุมชน เช่นย่านบางบัว หรือเรือนจำคลองเปรม ซึ่งจะมีแม่ค้าที่ทำอาหารส่งในเรือนจำเป็นลูกค้า ผักบางส่วนจะแบ่งใส่ถุงขายถุงละ 10 บาท ขายตามเส้นทางที่ขับรถผ่าน ขายลูกค้าขาจร อย่างช่วงเย็นจะขับไปขายที่ตลาดประชานิเวศน์ ขายพวกข่า ใบมะกรูด ข้าวโพด พริกหนุ่ม พริกขี้หนูแห้ง หอมแดง หอมแขก หัวไชเท้า ผักกาดขาว มะนาว ผักกะเฉด ฟัก กะเพรา โหระพา ฯลฯ

“หลักการตั้งราคา ถ้าขายผักในราคาส่ง จะตั้งกำไรประมาณ 5-10 บาทต่อ กก. ไม่เกินนี้ และบางช่วงถ้าผักชนิดไหนราคาแพงมากก็อาจจะยอมขายเท่าทุน แต่จะไปบวกกำไรกับสินค้าอย่างอื่นมาถัวกัน”

ทนงชัยยังบอกถึงหลักการหาลูกค้าด้วยว่า ตอนแรกต้องซื้อของมาขายไม่มากก่อน จากนั้นก็ตระเวนหาลูกค้าไปเรื่อย ๆ ต้องเข้าไปแนะนำตัวเอง บอกราคาผักในราคาส่ง เมื่อลูกค้ารับแล้วก็ค่อย ๆ รับผักมาส่งตามออร์เดอร์

“และต้องรับผิดชอบลูกค้าด้วยการส่งของตรงเวลา ขายผักในราคายุติธรรม และขายของดี เพื่อให้ลูกค้าไว้ใจเป็นลูกค้ากันตลอดไป” ...พ่อค้าขายผักแบบส่งถึงที่หรือ “เดลิเวอรี่” กล่าว

ใครสนใจจะเป็นลูกค้ารับซื้อผักแบบขายส่งจากทนงชัย ก็ติดต่อได้ที่ โทร.08-9290-2231 ส่วนใครที่ยังไม่มีอาชีพ กับ “ผักสดเดลิเวอรี่” อาชีพนี้ขายได้ทั้งแบบขายปลีก ขายส่ง หรือทั้งสองแบบควบคู่กัน เป็นอาชีพอิสระ ไม่มีเจ้านาย เพียงแต่ต้องมีความรับผิดชอบต่อลูกค้า ซึ่งผู้ที่ยึดอาชีพนี้ส่วนใหญ่ต่างก็รายได้ดีกันทั้งนั้น

ฝากไว้ให้พิจารณากันอีกหนึ่งอาชีพ!

No comments: